文章
EEC & COMPETITIVENESS (2)
13/06/2018อาทิตย์ก่อนเราได้มีโอกาสมาคุยกันเกี่ยวกับโครงการ EEC ในฐานะต้นแบบเชิงพื้นที่สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 และ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีไปแล้ว สำหรับอาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันต่อว่า โครงการ EEC มีส่วนช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยของเราอย่างไรบ้าง
ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ และได้พูดมาหลายปีแล้วว่า เศรษฐกิจและการลงทุน ของโลกจะเคลื่อนย้ายจากโลกตะวันตกมายังโลกตะวันออก และเศรษฐกิจของโลกจะขับเคลื่อนโดยภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ 60 ของโลก นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐอินโดนีเชีย ประเทศไทยในฐานะที่เราอยู่ตรงกลางของ 3 ประเทศ เราจะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนมาได้อย่างไร
ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านนิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆจากทั่วโลก ผู้เขียนจึงขอแบ่งปัจจัยระดับประเทศที่บริษัทเหล่านั้นต่างนำมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ (1) ที่ตั้งของประเทศรวมถึงความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ (2) มาตรการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่าง ๆ ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี (3) ทักษะและความพร้อมของแรงงาน (4) การจัดหาวัตถุดิบและเครื่องจักรอุปกรณ์ (5) ขั้นตอน กฎระเบียบและการอำนวยความสะดวกของภาครัฐ และ (6) ความมั่นคงและความต่อเนื่องของนโยบายทางการเมือง ซึ่งลำดับและน้ำหนักความสำคัญของแต่ละกลุ่มปัจจัยรวมถึงปัจจัยย่อยอื่น ๆ ก็จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรม
ตอนนี้ท่านผู้อ่านก็คงจะเริ่มรู้สึกคุ้นเคยแล้วว่า กลุ่มปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยเดียวกันกับตัวชี้วัดที่ถูกใช้ในการเปรียบเทียบและสะท้อนอยู่ในรายงานผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศของสถาบันการจัดอันดับที่เราได้ยินชื่อกันอยู่บ่อย ๆ หรือรับทราบข้อมูลผลการจัดอันดับเป็นประจำทุกปี เช่น รายงาน The IMD World Competitiveness Yearbook (WCY) ของ International Institute for Management Development (IMD) หรือ The Global Competitiveness Report ของ World Economic Forum (WEF) หรือ รายงาน Doing Business ของธนาคารโลก (World) Bank เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถาบันก็จะมีหลักเกณฑ์ ตัวชี้วัด และวิธีการจัดอันดับแตกต่างกันออกไป เช่น การจัดอันดับของ IMD แบ่งปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ (1) สภาวะทางเศรษฐกิจ (2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ (4) โครงสร้างพื้นฐาน หรือ WEF ที่มีการแบ่งตัวชี้วัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน (2) กลุ่มประสิทธิภาพ และ (3) กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา หรือ Doing Business ของธนาคารโลกที่จัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 11 ปัจจัย เป็นต้น ซึ่งหากมีโอกาสผู้เขียนก็จะมาวิเคราะห์วิธีการและผลการจัดอันดับของสถาบันการจัดอันดับต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้ทราบในรายละเอียดต่อไป
ท่านผู้อ่านคงเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้วว่า โครงการ EEC ซึ่งต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการ Eastern Seaboard ที่ดำเนินการมากว่า 30 ปี จะสามารถช่วยตอบโจทย์นักลงทุนจากทั่วโลกรวมถึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยของเราเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างไร ฉบับหน้าเราก็จะมาคุยกันถึงเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากมุมมองของผู้เขียน คือ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็ได้มีการประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งเป็น 1 ในโครงการ Mega Project ของโครงการ EEC ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
บทความนี้ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันพุธที่ 13 มิถุนายน 2561 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10856 คอลัมน์ Smart EEC: EEC & Competitiveness (2)