文章
EEC & THE ENGINE OF GROWTH
11/07/2018คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นโยบายประเทศไทย 4.0 และ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งโมเดลการพัฒนาประเทศได้ถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยมาเริ่มนับตั้งแต่ยุคแรก หรือ "ประเทศไทย 1.0" ที่เน้นการเกษตรกรรม เช่น การผลิตและขายพืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ ยุคที่สอง หรือ "ประเทศไทย 2.0" เน้นอุตสาหกรรมแต่เป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ยุคที่สาม หรือ "ประเทศไทย 3.0" ที่เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น การผลิตและขาย ส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ กลั่นน้ำมัน แยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 4.0 ส่งผลให้ภูมิทัศน์การแข่งขันในโลกยุคปัจจุบันถูก disrupt จนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเกิดเป็นโมเดลการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น รัฐบาลจึงได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพเพื่อเป็นแผนที่ในการกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างทั้งด้านการผลิต การเกษตร อุตสาหกรรมและบริการให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเป็นอย่างดีอยู่แล้ว กลุ่ม The First S-Curve เป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดมาจาก 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง แต่จำเป็นต้องต่อยอดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ระดับนานาชาติ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร และ กลุ่ม The New S-Curve หรืออุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษจึงเป็นการสร้างแผนที่เพื่อนำทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดมาตรการส่งเสริม และแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนช่วยกำหนดกรอบการเจรจาต่อรอง หรือการใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือเป็นบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักระดับโลกให้เข้ามาลงทุน สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และถ่ายทอด Know-how ให้กับบุคลากรชาวไทย
แนวความคิดการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่โมเดลการพัฒนาประเทศที่แปลกใหม่สำหรับประเทศไทยของเราแต่อย่างใด เนื่องจากเรามีโครงการรุ่นพี่อย่าง Eastern Seaboard เป็นตัวอย่างการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์รวมกิจกรรมการลงทุนตามโมเดลประเทศไทย 3.0 ที่สร้างความโชติช่วงชัชวาลให้แก่ประเทศของเราตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา พวกเราทุกคนจึงควรร่วมแรงร่วมใจผลักดันโครงการรุ่นน้องอย่าง EEC ให้ประสบความสำเร็จนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่า (Value-Base Economy) ที่เน้นการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์แทนการเน้นทรัพยากรพื้นฐานที่นับวันจะหมดลงเรื่อยๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้ประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจชุดใหม่ตามโมเดลประเทศไทย 4.0 จึงเป็นไปในลักษณะ "ทำน้อยได้มาก" ไม่ใช่ "ทำมากได้น้อย" แบบในอดีตอีกต่อไป
สำหรับอาทิตย์หน้า ผู้เขียนจะมาเขียนถึงบทบาทของโครงการ EEC กับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวเป็นประเทศโลกที่หนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์