文章
WORK - INTEGRATED - LEARNING
03/06/2019คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การพัฒนาประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหลายฝ่ายต่างสะท้อนให้เห็นตรงกันว่า หนึ่งในความท้าทายสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของไทย คือ ปัญหาทรัพยากรบุคคลและแรงงานที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ ศักยภาพ และผลิตภาพซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่อดีตและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
จากการที่ผู้เขียนมีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการจากหลากหลายอุตสาหกรรม ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผู้เขียนพบว่า ปัญหาร่วมที่ผู้ประกอบการและผู้ทรงคุณวุฒิต่างแสดงความเป็นกังวลคือ ทักษะแรงงานระดับอาชีวศึกษาซึ่งเป็นทรัพยากรหลักของภาคการผลิตและบริการยังมีคุณภาพและทักษะไม่ตรงกับความต้องการโดยเฉพาะการขาดทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาษาต่างประเทศ ซึ่งคาดการณ์กันว่าปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และทักษะจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากในอนาคตอันใกล้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวกลายเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หากไม่สามารถแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จโดยการผลักดันให้แรงงานพัฒนากลายเป็น แรงงาน 4.0 ที่มีความรู้และทักษะสูง ปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์จะกลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ผู้เขียนจึงลองศึกษาแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานจากต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศก็มีแนวปฏิบัติที่น่าสนใจ อาทิเช่น ประเทศสิงคโปร์มีการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะแรงงาน (SkillsFuture) ร่วมกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (Industry Transformation Maps) ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการเศรษฐกิจอนาคตที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนจึงทำให้การวางแผนผลิตแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะของสิงคโปร์สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเพิ่มพูนทักษะการทำงานใหม่ๆ หรือปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน
นอกจากนั้น ผู้เขียนยังพบตัวอย่างการพัฒนาบุคลากรสายอาชีวะตามแนวทางการศึกษาแบบคู่ขนานของประเทศเยอรมัน (Dual Vocational Training) และญี่ปุ่น (KOSEN) ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนและปฏิบัติงานควบคู่กันไปโดยการเข้าทำงานกับสถานประกอบการที่ร่วมโครงการจึงทำให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานจนเกิดเป็นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์อย่างแท้จริง
ซึ่งโครงการ EEC เองก็มีการนำแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่โดยระดับอาชีวะศึกษาก็ได้มีการใช้แนวทางของสัตหีบโมเดลซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการร่วมกับการทำงาน (Work-Integrated Learning – WIL) ที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สถานศึกษา สถานประกอบการ สมาคมหรือองค์กรวิชาชีพที่มีวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบและนำมาต่อยอดขยายผลไปอีก 11 วิทยาลัยอาชีวะโดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาแรงงานป้อนให้กับสถานประกอบการต่างๆ ในเขตพื้นที่ EEC และในที่สุดก็จะสามารถขยายผลไปสู่สถานศึกษาทั่วประเทศเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น
WIL จึงเป็นรูปแบบของการจัดการการศึกษาที่เป็น win-win-win สำหรับทั้งสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ และแรงงาน โดยการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจและสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดหาสถานที่ฝึกงานเพราะสภาวะการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาทักษะแรงงานและทรัพยากรมุนษย์ ซึ่งภาคการศึกษาของไทยก็จำเป็นจะต้องก้าวไปข้างหน้าในทิศทางและความเร็วเดียวกับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมจึงทำให้แรงงานไทยสามารถเป็นทรัพยากรสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวนั่นเอง