文章

MUNICIPAL WASTE

05/08/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การขยายตัวของประชากรและการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีส่งผลให้สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste) กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายฝ่ายต่างแสดงความเป็นกังวลโดยรายงานของ Waste Generation and Recycling Indices 2019 เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากแต่ละปีมีขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นมากกว่า 2.1 พันล้านตันทั่วโลกแต่มีขยะเพียง 16% หรือประมาณ 323 ล้านตันเท่านั้นที่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

เมื่อพิจารณารายละเอียดผลการจัดอันดับประเทศที่ผลิตขยะต่อประชากรมากที่สุดพบว่า สหรัฐอเมริกาที่มีพลเมืองเพียง 328 ล้านคนและคิดเป็น 4% ของจำนวนประชากรโลกเท่านั้น แต่กลับผลิตขยะมูลฝอยชุมชนรวมกัน 239 ล้านตันต่อปีหรือมากถึง 11% ของขยะมูลฝอยทั้งหมด ซึ่งจากการคำนวณพลเมืองชาวอเมริกัน 1 คนผลิตขยะโดยเฉลี่ยสูงถึง 2.1 กิโลกรัมต่อวันซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 3 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันคิดเป็นกว่า 36% แต่ผลิตขยะแค่เพียง 27% ของทั้งหมดหรือคิดเป็นปริมาณเฉลี่ย 0.6 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย จากการเปิดเผยข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยชุมชนรวมกัน 27.9 ล้านตันโดยสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 9.6 ล้านตัน หรือเฉลี่ยแล้วคนไทย 1 คนผลิตขยะมูลฝอย 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวันโดยคิดเป็นสัดส่วนขยะที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 0.7 กิโลกรัมต่อคน และแม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ทำให้สถานการณ์ขยะมูลฝอยของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจนสามารถเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะมูลฝอยเป็น 34% ในปี 2561 จาก 19% ในปี 2551 แล้วก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ฮ่องกงที่มีอัตราการรีไซเคิล 36%, สิงคโปร์ 39%, เกาหลีใต้ 45%, ญี่ปุ่น 51% ฯลฯ ประเทศไทยก็ยังคงต้องส่งเสริมและผลักดันให้มีการคัดแยกขยะอย่างจริงจังต่อไป

การขับเคลื่อนโครงการด้านการจัดการขยะมูลฝอยจึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการ EEC การขยายตัวของพื้นที่เมืองและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตย่อมส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานประชากรจนก่อให้เกิดของเสียจากการบริโภคของชุมชนและกิจกรรมต่างๆ ที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยสำนักงานคณะกรรมการ EEC คาดการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยรวมต่อปีใน 3 จังหวัดของพื้นที่ EEC ว่าจะมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ย 2% ต่อปีจาก 1.6 ล้านตันเป็นปริมาณกว่า 2.5 ล้านตันต่อปีในปี 2580 เลยทีเดียว

เมื่อพิจารณาถึงปริมาณขยะมูลฝอยสะสมในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ปัจจุบันมีจำนวนรวมกว่า 5.6 ล้านตัน การจัดหาพื้นที่ฝังกลบเพื่อรองรับปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านพื้นที่ว่างสำหรับการฝังกลบและการยอมรับจากชุมชน การสนับสนุนให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะประเภทที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณขยะควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ความรู้กับชุมชนก็จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาปริมาณขยะมูลฝอยล้นพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในระยะยาวก็จำเป็นต้องปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมืองยุคใหม่ เมื่อประกอบเข้ากับนโยบายภาครัฐและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนได้นั่นเอง