文章

CLIMATE TECHNOLOGY

12/10/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า อีกทั้งภาวะสภาพอากาศสุดขั้วที่ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น แต่ละประเทศทั่วโลกจึงต่างให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าว ตลอดจนได้มีความพยายามเร่งผลักดันให้ประเทศบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว

เมื่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจึงมีผลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เทคโนโลยีเองก็สามารถเข้ามาเป็นหนึ่งส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายทางด้านสภาพภูมิอากาศได้เช่นกัน โดยผ่านการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมในรูปแบบของ Climate Technology หรือ กลุ่มเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการลดการก่อมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยการพัฒนาของกลุ่มเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศนั้นครอบคลุมไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมอาทิเช่น กลุ่มพลังงานทางเลือก กลุ่มอาหารและการเกษตร กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มแบตเตอรี่และอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน ฯลฯ

ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วประกอบกับการตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจึงส่งผลทำให้ Climate Technology ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากมูลค่าการลงทุนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจากรายงานของ Bloomberg NEF ระบุว่า มูลค่าการลงทุนในบริษัทด้าน Climate Technology ทั่วโลกในปีที่ผ่านมานั้นสูงถึง 165 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร

โดยจากการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศพบว่า มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น พลังงานทางเลือกจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ (Flying Wind Power) ที่สามารถผลิตพลังงานได้มากกว่ากังหันลมแบบปกติถึง 2 เท่า หรือ การเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์และควบคุมปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพาะปลูกอย่างเหมาะสมจึงสามารถช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกินจำเป็นได้ หรือ การผลิตอาหารในห้องแล็บ (Lab-grown Meat) ที่มีส่วนช่วยในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ หรือ อุปกรณ์กักเก็บพลังงานอย่างแบตเตอรี่พลังงานทราย (Sand Battery) ที่สามารถกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการกักเก็บความร้อนได้สูงถึง 500 องศาเซลเซียสเป็นระยะเวลานาน หรือ การดักจับ การใช้ประโยชน์และการจัดเก็บคาร์บอน (CCUS) ที่เป็นเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกโดยการนำมากักเก็บภายใต้พื้นดินหรือนำไปใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาช่วยปลดล็อคปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่เราต้องเผชิญได้ แต่การแก้ไขปัญหานั้นต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐเพื่อผลักดันให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย การพัฒนาของเทคโนโลยี ตลอดจนพฤติกรรมและความตระหนักถึงความมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อระบบนิเวศของประชาชน โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเช่นนี้จะทำให้สามารถมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้สำเร็จนั่นเอง