文章
WORKFORCE IN DIGITAL ERA
22/05/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันผู้ประกอบการต่างนำเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับคู่แข่งในตลาดซึ่งศักยภาพและประสิทธิภาพที่ทรงพลังของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นได้สร้างให้เกิดความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะด้านแรงงาน เนื่องจากการปรับตัวของภาคธุรกิจนั้นส่งผลให้คนทำงานต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
จากรายงาน Future of Jobs ของ World Economic Forum (WEF) ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นบริษัทชั้นนำกว่า 800 แห่งทั่วโลกระบุว่า โลกการทำงานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในอนาคต บางส่วนของงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกดิสรัปต์ทำให้ตำแหน่งงานกว่า 83 ล้านตำแหน่งหายไป ขณะที่มีตำแหน่งงานเพียง 69 ล้านตำแหน่งเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นใหม่ ส่งผลให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าตำแหน่งงานโดยรวมจะลดลงถึง 14 ล้านตำแหน่งเลยทีเดียว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอัจฉริยะนั้นถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน
สำหรับกลุ่มอาชีพที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ และจะมีบทบาทลดลงอย่างรวดเร็วจากการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติคงหนีไม่พ้นประเภทงานธุรการและงานเอกสาร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรอกข้อมูล เสมียน พนักงานบัญชี พนักงานธนาคาร พนักงานเก็บเงินและจำหน่ายตั๋ว ซึ่งตำแหน่งงานประเภทนี้จะหายไปกว่า 26 ล้านตำแหน่งภายในปี 2027 ในทางกลับกันกลุ่มอาชีพเกี่ยวกับการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยทักษะ/ความรู้ด้านดิจิทัลนั้นนับเป็นตำแหน่งงานลำดับต้นๆ ที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบริษัทต่างต้องการพนักงานที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI, Machine Learning, Big Data, Robotics นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น
เมื่อการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ แรงงานจึงจำเป็นต้องมีทักษะชุดใหม่เพื่อตอบรับความต้องการในอนาคตและปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยแรงงานต้องพัฒนาทั้งทักษะด้าน Technical Skill โดยเฉพาะการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงนวัตกรรม ความคิดเชิงสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญสูงสุดมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ตลอดจน Human Skill ที่เกี่ยวข้องกับการมีภาวะผู้นำและการสร้างอิทธิพลโน้มน้าว (Leadership and Social Influence) ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยการสร้างความสามารถในการพัฒนาไปสู่แรงงานที่มีทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นนั้นต้องอาศัยกลไกและมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยรวมถึงสร้างให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนา ตลอดไปจนถึงการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาหรือภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีทักษะที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน
อย่างไรก็ตาม การมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญ เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับยุคปัจจุบัน แต่อีกสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาไปควบคู่กันเพื่อสร้างความพร้อมให้กับแรงงานในการเผชิญกับความไม่แน่นอนของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นคงหนีไม่พ้นการปลูกฝังให้เปิดรับและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ (Life-long Learning) อันจะช่วยสร้างแรงงานให้พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตลอดเวลานั่นเอง