文章

GREEN HYDROGEN

19/06/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero) ของหลายประเทศรวมถึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำให้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น “พลังงานไฮโดรเจน” ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพสูง สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีปริมาณพลังงานต่อหน่วยน้ำหนักสูง จึงเป็นทางเลือกที่สามารถนำมาทดแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิมเพื่อเป็นตัวช่วยในการกำจัดคาร์บอนในภาคพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การผลิตไฮโดรเจนนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบซึ่งแต่ละกระบวนการจะส่งผลให้เกิดต้นทุนและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แตกต่างกันออกไป โดยปัจจุบันไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีต้นทุนต่ำสุด แต่หลายฝ่ายก็ไม่เห็นด้วยกับการนำไฮโดรเจนสีเทามาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากถูกผลิตขึ้นจากพลังงานจากก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการจึงยังไม่ใช่พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง ในขณะที่ ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) นั้นผลิตขึ้นจากกระบวนการ Electrolysis ที่ทำการแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจึงไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศทำให้เป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าไฮโดรเจนสีเขียวจะดูเป็นทางเลือกที่ดี แต่ค่าใช้จ่ายด้านการผลิตนั้นยังถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องเผชิญ เนื่องจากพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี Electrolysis ที่เป็นต้นทุนหลักของการผลิตยังมีราคาค่อนข้างสูงทำให้ปัจจุบันราคาของไฮโดรเจนสีเขียวนั้นสูงกว่าไฮโดรเจนประเภทอี่นอยู่มาก โดยมีราคาประมาณ 3-8 ยูโรต่อกิโลกรัม ในขณะที่ไฮโดรเจนสีเทามีราคาอยู่ที่ 1-2 ยูโรต่อกิโลกรัมเท่านั้น ดังนั้น ปัจจัยที่สามารถส่งเสริมทำให้ไฮโดรเจนสีเขียวสามารถแข่งขันในตลาดพลังงานทางเลือกได้คือ การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี Electrolysis ที่เป็นไปแบบสวนทางกับราคา ควบคู่ไปกันกับต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ต้องลดต่ำลง

นอกจากนี้ การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวนั้นยังทำให้เกิดความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความพร้อมของแหล่งพลังงานสะอาดจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทางเลือกใหม่นี้เช่นกัน โดยประเทศที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรหมุนเวียนอุดมสมบูรณ์และมีพื้นที่สำหรับการผลิตพลังงานสะอาดที่มากเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของประเทศไทยพบว่าก็ยังมีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรอยู่มาก เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ผลิตได้ในประเทศยังคงไม่เพียงพอ รวมถึงมีราคาที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังขาดความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและกลไลทางด้านภาษีคาร์บอนที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุน

ถึงแม้ว่าบริบทของประเทศไทยอาจยังไม่พร้อมกับการลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว แต่เมื่อหลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าไฮโดรเจนสีเขียวเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการมุ่งสู่ Net Zero ในอนาคต การศึกษาและถอดบทเรียนการพัฒนาของต่างประเทศทั้งด้านเทคโนโลยี รวมถึงนโยบายและการกำกับดูแลเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยในอนาคตเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่จะเกิดขึ้นสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาวนั่นเอง