文章
Integrated Logistics Solutions
04/12/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ด้วยสถานที่ตั้งอยู่บนศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนและเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ Exponential Technology ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและส่งผลให้ อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ต้องปรับเปลี่ยนกลายเป็นโลจิสติกส์ 4.0 ตลอดจนพัฒนาการให้บริการที่ครบวงจร (Integrated Logistics Services) มากยิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กัน
จากข้อมูลสถิติในรายงาน Thailand’s Logistics Report ล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้เปิดเผยว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 13.8 ของ GDP และอยู่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้กำหนดเป้าหมายเพื่อผลักดันต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาวให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศจำเป็นต้องลดลงมาอยู่ที่ระดับเลขหลักเดียวจึงจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันด้านโลจิสติกส์กับนานาประเทศได้นั่นเอง
ซึ่งภาครัฐก็ได้มีความพยายามส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้สามารถเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคและภูมิภาคอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่ EEC ที่มีส่วนช่วยทำให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยพัฒนามากยิ่งขึ้น หนึ่งในแนวความคิดที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางคงหนีไม่พ้น ยุทธศาสตร์ The Belt and Road Initiative (BRI) ของรัฐบาลจีน ที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเลจากประเทศจีนผ่านทวีปเอเชียกลางไปยังทวีปยุโรป โครงการ EEC จึงถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคายซึ่งเป็นแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่บริเวณอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมีจุดเชื่อมเพื่อตัดเส้นทางเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการ EEC และสามารถเชื่อมเข้ากับระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั้งทางบก ทางอากาศและทางน้ำได้อย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ภาครัฐที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความพยายามในการเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ ตัวอย่างเช่น WHA Group ผู้นำด้านการให้บริการให้เช่าคลังสินค้ามาตรฐานระดับโลกและบริการด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง ที่เน้นการเพิ่มศักยภาพและการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากโครงการ Green Logistics ที่นำเอานวัตกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในการดำเนินธุรกิจลดลง เป็นต้น และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน (GC) ก็ได้ประกาศร่วมทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาระบบด้านโลจิสติกส์ของบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัด (GCL) ซึ่งในปัจจุบัน GCL มีการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ครอบคลุม ตั้งแต่ (1) Supply Chain Solutions – การบริหารจัดการซัพพลายเซน (2) Silo Bagging and Packing – บริการด้านการบรรจุสินค้า (3) Warehouse Management – การบริหารจัดการคลังสินค้า (4) Transportation – บริการด้านการขนส่ง (5) Custom Clearance – บริการด้านการศุลกากร และ (6) Freight Forwarding
ความร่วมมือดังกล่าวจึงถือเป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ในระยะยาวได้เป็นอย่างดีนั่นเอง