文章

The EV Boom

25/12/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัญหาสภาวะโลกร้อนนั้นได้ส่งผลกระทบในวงกว้างและทำให้ความนิยมพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดนับเป็นเทรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ซึ่งทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมถึงมีความพยายามร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วยการลดปริมาณก๊าซ CO2 ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง

อุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงนี้และต้องเร่งปรับตัวรับกระแส Disruption ที่กำลังเกิดขึ้น โดยการคิดค้นและพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) และการปรับตัวเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเทียบกับตลาด EV ในประเทศสหรัฐฯ จีน หรือยุโรป ตลาด EV ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะยังคงเป็นตลาดใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งที่เคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เดิมตั้งแต่อดีต และประเทศที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมใหม่นี้ ต่างได้กำหนดให้มีนโยบายและมาตรการสนับสนุนการลงทุนใน segment ดังกล่าวอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซียที่มีการประกาศใช้มาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาแบตเตอรี่ชั้นนำต่างชาติ รวมถึงรัฐบาลของเวียดนามที่ผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของตนอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของอาเซียน ด้วย (1) ความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและยังเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (2) ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่มั่นคงและมีศักยภาพ (3) แรงงานฝีมือ ที่มีทักษะ/ ความชำนาญ ตลอดจน (4) การส่งเสริมของภาครัฐ ผ่านทางนโยบายขับเคลื่อน/ พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทั้งมาตรการที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี ความได้เปรียบเหล่านี้จึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของของภูมิภาค (EV Hub) ได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ข้อได้เปรียบที่มีอยู่เดิมของประเทศไทย ขณะเดียวกัน ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ (Local Demand) เองก็ถือเป็นแรงกระตุ้นให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังสะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าในไทยของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากว่า 8,982 คัน นับเป็นสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงกระแสรถ EV ก็ยังช่วยเพิ่มยอดจองรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปี 2566 ที่สูงถึง 50,000 คัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็มีการเปิดรับและความมั่นใจกับรถ EV มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากการขยายการลงทุน/ ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทรถยนต์ชั้นนำจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนอย่าง BYD MG และ Changan Automobile ที่ทำให้ตัวเลือกในตลาดรถยนต์ EV ไทยมีความหลากหลาย ทั้งในด้านรูปลักษณ์และฟังก์ชันการใช้งาน ประกอบกับราคาขายที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย อันเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อาทิ มาตรการ EV 3.0 เป็นต้น

การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องต้องได้รับความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งฝั่งอุปสงค์ที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและฝั่งอุปทานที่ผลักดันให้เกิดการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน จึงจะทำให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสจากความได้เปรียบในการครอบครองพื้นที่ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตเพื่อต่อยอดความสำเร็จจากอดีตได้นั่นเอง