文章
Competitive Skilled Workforce
11/03/2024คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทรัพยากรบุคคลและแรงงานถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นแล้ว ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นหนึ่งภูมิภาคที่มีข้อได้เปรียบอยู่มาก ทั้งในเชิงจำนวนประชากรที่มีรวมกันกว่า 673 ล้านคน และส่วนมากยังอยู่ในวัยแรงงาน ขณะเดียวกันต้นทุนค่าแรง (labor costs) ของประชากรในหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนค่าแรงของประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มาก
นอกจากนี้ แรงงานในภูมิภาคนี้ยังมีประสบการณ์ ทักษะ และความรู้ความชำนาญ ที่สามารถรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตัวอย่างเช่น แรงงานของประเทศสิงคโปร์ที่มีความชำนาญในงานด้าน semiconductors และการผลิตชิ้นส่วนการบินและอวกาศ แรงงานในประเทศเวียดนามที่มีความเชี่ยวชาญที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแรงงานชาวไทยที่พร้อมไปด้วยทักษะในการรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารบรรจุสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่สำคัญของโลกมายาวนาน เป็นต้น
ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีส่งผลให้ตลาดแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลกำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้จึงมิอาจนิ่งนอนใจและต่างต้องเร่งค้นหาแนวทางในการพัฒนาบุคลากร/ แรงงานมีทักษะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะด้านดิจิทัล ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังทั้งด้านศาสตร์ อาทิ การศึกษาในสาขา STEM (Science, Technology, Engineer และ Mathematics) ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานควบคู่ไปกับด้านศิลป์ที่เป็นทักษะความรอบรู้ของยุคปัจจุบัน เช่น สมรรถนะด้านความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร เป็นต้น และยังต้องส่งเสริมให้บุคลากร/ แรงงาน รู้จักนำเทคโนโลยี/ นวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับประเทศไทยที่มีแรงงานทักษะ (skilled workforce) สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับการผลักดันพัฒนาแรงงานมีทักษะสูง หรือ ทักษะด้านดิจิทัล โดยล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2023 ที่ดีขึ้น 5 อันดับ โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ในปี 2023 จากเดิม อันดับที่ 40 ใน ปี 2022 จากทั้งหมด 64 เขตเศรษฐกิจที่มีการเข้าร่วมการจัดอันดับ โดยมีผลการจัดอันดับของไทยที่ดีขึ้นในทุกมิติ ได้แก่ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และ ด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness)
แม้การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงหรือทักษะด้านดิจิทัลของไทยนั้นจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแรงงานให้เพียงพอและมีทักษะ ความรู้ความ ชำนาญ ที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC นั้นยังคงถือเป็นความท้าทาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการกำหนดนโยบาย/ มาตรการส่งเสริมการพัฒนากำลังคน ตลอดจนพัฒนาโครงการนำร่องต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลและส่งเสริมการพัฒนาแรงงานให้พร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยีที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต อันจะช่วยให้ประเทศสามารถรองรับการขยายฐานการลงทุนและการผลิตของนักลงทุนที่มีความสนใจเข้ามาปักหมุดลงทุนในภูมิภาคนี้ได้ในระยะยาวนั่นเอง