記事

The Rise of the Prosumer

21/11/2018

การพัฒนาของ disruptive technology และการเปลี่ยนผ่านสู่เข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้ภาพของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และการจัดการแบบรวมศูนย์ถูกลดบทบาทลง แนวโน้มของระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตกลายเป็นระบบการจัดการแบบกระจาย (Distributed Energy Resource : DER) พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาด และส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าจึงทำให้มีความยืดหยุ่นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตและการใช้ไฟฟ้า

Prosumer คืออะไร ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง คำว่า "Prosumer" เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นโดยผู้เขียนหนังสือที่ขายดีมากเล่มหนึ่งของโลกเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ชื่อ "คลื่นลูกที่สาม" ซึ่งผู้แต่งคือ Alvin Toffler เป็นบุคคลที่สนใจศึกษาเรื่องอนาคต โดย Toffler ให้คำจำกัดความของ Prosumer ไว้ว่า การผลิตโดยผู้บริโภค (Production by Consumer) และ Toffler ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตผู้บริโภคจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้นซึ่งในกรณีของอุตสาหกรรมพลังงาน คือการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองจากหลังคาบ้านด้วยเทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์ และจำหน่ายให้กับบ้านข้างเคียงผ่านระบบสายส่ง ทำให้บทบาทของผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค หรือ Prosumer ตามที่ Toffler ได้ให้คำจำกัดความไว้นั่นเอง

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคตตามที่กล่าวข้างต้น นั่นคือ การพัฒนาของเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) หรือที่เรามักจะเรียกกันง่ายๆ ว่า Battery นั่นเอง โดยคุณสมบัติสำคัญของ ESS คือ การโยกย้ายพลังงานไฟฟ้าระหว่างช่วงเวลาจึงทำให้สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำไว้สำหรับช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันต้นทุนของ ESS จะยังสูงอยู่จึงยังไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและไม่เกิดการนำมาใช้เชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน แต่ผู้เขียนเชื่อว่า อัตราการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีซึ่งสวนทางกับราคาและต้นทุนของ ESS ที่ลดลงจะทำให้การใช้ ESS ในระบบผลิตและจัดการไฟฟ้าเป็นไปอย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ทิศทางของระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีการผลิตแบบกระจาย ทำให้เกิดแนวความคิดในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ขึ้น โดยเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเก็บข้อมูลและทำการสั่งการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงการนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินใจ เช่น ข้อมูลพฤติกรรมของการใช้ไฟฟ้าหรือโหลดของผู้ใช้งาน ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของหน่วยผลิตแต่ละหน่วย เป็นต้น ทำให้สามารถสั่งการและควบคุมโดยอัตโนมัติจึงเพิ่มประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ สร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าภายในโครงข่ายของตนเอง

การเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้จ่ายพลังงานทั้ง 3 ส่วนการไฟฟ้า ได้แก่ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. ผู้ประกอบการ IPP, SPP, VSPP ผู้ที่เป็นทั้ง Prosumer และ Consumer ในส่วนของภาคเอกชนต่างๆ ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และภาคประชาชน ซึ่งทุกภาคส่วนควรต้องร่วมแรงร่วมใจลดความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของทั่วโลกต่อไป