記事

SOCIAL COMMERCE

23/01/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จากการสำรวจข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกโดย We Are Social และ Hootsuite ดิจิทัลเอเจนซี่ชั้นนำของโลกพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งาน Social Media มากถึง 51 ล้านคนและใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวันไปกับสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งกรุงเทพฯ ยังครองตำแหน่งเมืองที่มียอดผู้ใช้งาน Facebook มากที่สุดในโลกซึ่ง KBank ได้เปิดเผยไว้ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจ Social Commerce หรือ เครือข่ายสังคมค้าขายออนไลน์ของไทยมีมูลค่ากว่า 137,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 14% ของตลาด B2C E-Commerce ทั้งหมดของไทยในปี 2561 และสูงถึง 45% หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าตลาด B2C E-Commerce ประเภทสินค้าเท่านั้น

เนื่องจากข้อดีของ Social Commerce คือ การนำคุณสมบัติของธุรกิจ E-Commerce มาผสมผสานเข้ากับ Social Media จึงทำให้สามารถเข้าถึงและนำเสนอสินค้าและบริการให้แก่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางสะดวกรวดเร็วแบบธุรกิจออนไลน์และในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอย่างมีประสิทธิภาพโดยการนำ Social Technology มาใช้ยกระดับประสบการณ์การซื้อขายและการติดต่อสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงบุคคล (Personalization) ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารจึงเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตราสินค้ารวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับผู้ซื้ออีกด้วย

ปัจจุบัน Social Media ต่างๆ จึงมุ่งผลักดันและขยายขอบเขตการทำงาน Platform ของตนเพื่อรองรับธุรกิจ Social Commerce อย่างเต็มรูปแบบ อาทิ Instagram ได้เพิ่มหมวดหมู่ Shopping และการจ่ายชำระเงินภายในตัวแอปพลิเคชั่น หรือ LINE ที่เพิ่มการใช้งาน Chatbot เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถสอบถามและพูดคุยตอบโต้กับผู้ขาย ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่นิยมใช้ฟีเจอร์ Facebook Live เพื่อโฆษณาแนะนำสินค้าและพูดคุยติดต่อกับเครือข่ายผู้ติดตามของตนแบบ real-time

จากการเปิดเผยของ Facebook พบข้อมูลว่า มี SMEs ไทยมากกว่า 2 ล้านรายที่ทำธุรกิจผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของ SCB EIC ที่รายงานว่า ผู้ประกอบการ Social Commerce ของไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกิดใหม่และผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจซื้อขายสินค้ามูลค่าไม่สูงมากนักและไม่ต้องการการบริการหลังการขาย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

SMEs จึงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่จะมีส่วนผลักดันการพัฒนาธุรกิจ Social Commerce ของไทยให้เติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจ E-Commerce และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศซึ่งแม้ว่า Social Commerce ไทยจะยังมีข้อจำกัดการขยายธุรกิจไปยังฐานลูกค้าในต่างประเทศเนื่องด้วยความแตกต่างด้านภาษาและการสื่อสารแต่หากได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจที่เหมาะสม เช่น ระบบสินค้าคงเหลือ การจัดทำบัญชี การจัดการด้านขนส่งโลจิสติกส์ เป็นต้น ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเติบโตจนสามารถขยับเข้าไปแข่งขันบน E-Marketplace ชั้นนำต่างๆ หรือกระทั่งสร้างเว็บไซต์ซื้อขายเป็นของตนเองได้

ซึ่งโครงการ EEC ก็จะมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยรวมถึงมาตรการสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและขนส่งโลจิสติกส์ก็จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรม E-Commerce และ Social Commerce ของไทยเติบโตเกิดเป็นช่องทางสำหรับการต่อยอดไอเดียทางธุรกิจของผู้ประกอบการชาวไทยในอนาคต

Social Commerce จึงเป็นโมเดลการทำธุรกิจที่นำความนิยมการเสพสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการค้าซึ่งหากได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอย่างถูกต้องแล้วก็จะเป็นเครื่องมือในการแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ประกอบการชาวไทยจากผู้เล่นรายใหญ่ต่างๆ ได้เลยทีเดียว