記事

DEFENCE INDUSTRY

09/10/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ 1st Tier ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศสมบูรณ์แบบและครบวงจร อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก หรือกลุ่มประเทศ 2nd Tier เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินเดีย อิสราเอล ออสเตรเลีย ฯลฯ ที่ภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของทั้งสองกลุ่มประเทศนี้มีขนาดใหญ่ สามารถพึ่งพาตนเอง รวมทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีเป็นอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 3rd Tier ที่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศอยู่ในระดับพึ่งพาตนเอง คือ แม้ว่าจะมีความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์แต่ยังไม่สามารถผลิตเพื่อการส่งออกหรือจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยแม้จะมีการดำเนินการมาเป็นเวลานานโดยโรงงานภายใต้สังกัดกองทัพไทยและโรงงานของภาคเอกชนแต่ก็จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำ รวมถึงด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน Industry Landscape ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากเนื่องจากพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการนำโดรนมาใช้สำหรับการโจมตีบ่อน้ำมันของประเทศซาอุดิอาระเบีย หลายประเทศเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการปฏิบัติการทางทหาร รวมถึงอากาศยานและยานผิวน้ำ/ใต้น้ำไร้คนขับ มีการนำ AR และ VR มาใช้สำหรับการจำลองปฏิบัติการเสมือนจริง อาวุธหลายประเภทมีขนาดเล็กลงแต่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาครัฐและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่จะทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อยกระดับและสร้างกระบวนการผลิตที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา line การผลิตหรือเทคโนโลยีแบบเดิมๆ

เพื่อให้สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบาย EEC จึงเห็นชอบให้เพิ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของโครงการ EEC รวมถึงกำหนดให้คณะทำงานเฉพาะกิจเร่งจัดทำแผนการพัฒนาโดยยึดพื้นที่บริเวณท่าเรือจุกเสม็ดเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนตั้งแต่การศึกษาวิจัย การผลิต และการนำมาใช้ประโยชน์ผ่านการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการวางรากฐานทางด้านเทคโนโลยีสำหรับรองรับการเติบโตและการสะสมองค์ความรู้เพื่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอันจะช่วยยกระดับสถานะของประเทศไทยจากการเป็นผู้ซื้อมาเป็นผู้วิจัยและผู้ผลิตเพื่อการใช้ภายในประเทศและการส่งออกในอนาคต

แรงสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ การกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์สำหรับรายการที่อุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถผลิตได้ การผลักดันร่าง พ.ร.บ. เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนด้านเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างระบบนิเวศที่มีการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวความคิดอย่างใกล้ชิดก็จะเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และ บริษัท Startup ให้สามารถเติบโตจนกระทั่งมีศักยภาพและขีดความสามารถด้านการผลิตที่ได้มาตรฐาน

การกำหนดให้มีนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจนในช่วงจังหวะที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงและ Disrupt ภูมิทัศน์การแข่งขันของอุตสาหกรรมก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการสร้างหลักประกันทางด้านความมั่นคงของประเทศซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความตั้งใจจริงในการร่วมมือระหว่างภาครัฐ กระทรวงกลาโหม กองทัพ ภาควิชาการและภาคเอกชนที่จะช่วยกันผลักดันให้อุตสาหกรรมของไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นนั่นเอง