記事
INTRA-REGIONAL MEDICAL HUB
02/09/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยระหว่างปี 2553 ถึงปี 2563 ภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP สูงถึงร้อยละ 6.2 ต่อปี ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคพัฒนากลายเป็นประชากรรายได้ปานกลาง แต่ในขณะเดียวกัน UN ก็คาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ภายในอีก 20 ปีข้างหน้าและส่งผลทำให้เกิดความต้องการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
เมื่อพิจารณาความพร้อมทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน ผู้เขียนพบว่าประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง โดยข้อมูลจาก World Bank เปิดเผยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ของภูมิภาคอาเซียนเฉลี่ยเท่ากับ 90 คนต่อประชากร 100,000 คนซึ่งน้อยกว่าอัตราส่วนเฉลี่ยของโลกที่เท่ากับ 150 คนอย่างมีสาระสำคัญ
ทั้งนี้ประเทศไทยก็มีชื่อเสียงในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มาอย่างยาวนานและเพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จของ Medical Tourism รัฐบาลจึงได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตโดยสนับสนุนให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ขั้นสูง การพัฒนาเวชภัณฑ์ และการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ทำให้หลายประเทศหันกลับมาตระหนักถึงความสำคัญของระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมถึง COVID-19 ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้กับบริการทางการแพทย์มากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลทางไกล (Telemedicine) ที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอัตราการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพแต่ยังช่วยลดต้นทุนการรักษาพยาบาลได้อีกด้วย ซึ่งความสามารถในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขและคุณภาพบุคลากรทางการแพทย์ไทยเป็นอย่างดี โดยองค์กร Global COVID-19 Index (GCI) ได้จัดอันดับให้ไทยมีดัชนีการฟื้นตัวจาก COVID-19 สูงสุดเป็นอันดับ 2 จาก 184 ประเทศ ความสำเร็จดังกล่าวจึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะนำมาต่อยอดเพื่อมุ่งสู่การเป็น Medical Hub หลักของภูมิภาคต่อไป
อย่างไรก็ตาม กฎหมายและระเบียบปฏิบัติการให้บริการการแพทย์ทางไกลของไทยนั้นยังไม่เปิดกว้างเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ หรือ จีน ตลอดจนมาตรการจำกัดการเดินทางและข้อปฏิบัติการกักตัวที่ปัจจุบันยังบังคับใช้สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศก็เป็นข้อจำกัดสำหรับภาคธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างจริงจังจากภาครัฐ เช่น การผ่อนปรนเกณฑ์การรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือการกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับ Business Bubble ให้ชัดเจน รวมถึงการปลดล็อคข้อจำกัดด้านกฎระเบียบสำหรับ Digital Healthcare ประเทศไทยก็จะสามารถเปิดรับนักเดินทางจากทั่วโลกได้เร็วขึ้นซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดแล้วก็ยังเป็นการช่วยวาง Soft Infrastructure สำหรับการก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub เพื่อรองรับกำลังซื้อและความต้องการทางด้านสาธารณสุขของประชากรในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถคว้าโอกาสจากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และ Medical Tourism ที่ไทยมีความได้เปรียบอยู่แล้วโดยการต่อยอดการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ Soft Infrastructure ต่างๆ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวนั่นเอง