記事

AUTONOMOUS VEHICLE

10/02/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในช่วงที่ผ่านมาแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเรากลับมาอยู่ในกระแสที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งข่าว การลงทุนปรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ Great Wall Motors ที่จะมาพร้อมเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมาก หรือแผนการขยายตลาดและฐานการผลิตของ Tesla เข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนอกเหนือจาก EV แล้วรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ Autonomous Vehicle (AV) ก็เป็นอีกหนึ่งกระแสการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เติบโตควบคู่กัน

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มีศักยภาพในการเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ที่ซับซ้อน ตั้งแต่กระบวนการรับรู้จนถึงการตัดสินใจ และด้วยพลังที่ไร้ขีดจำกัดจึงทำให้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายรวมถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำงานของยานยนต์ไร้คนขับนั้นก็เป็นการบูรณาการ 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ (1) Computer Vision ที่เปรียบเสมือนตา (2) Deep Learning ที่เปรียบเสมือนสมอง (3) Robotics ที่เปรียบเสมือนเส้นประสาท และ (4) Navigation System สำหรับการวิเคราะห์เส้นทาง เข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง

ปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีเกิดขึ้นในอัตราความเร็วแบบทวีคูณจึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกของศตวรรษที่ 21 นี้ โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างก็กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาไปในทิศทางดังกล่าว เช่น สหรัฐอเมริกา-Tesla, Ford, GM เยอรมนี- Mercedes-Benz, BMW ญี่ปุ่น-Toyota, Honda เป็นต้น รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple, Google, Amazon, Baidu ที่ต่างกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้เช่นเดียวกัน โดยตัวอย่างของยานยนต์ไร้คนขับที่มีการนำมาใช้จริงในปัจจุบัน ได้แก่ “Waymo” ของ Google ที่มีการทดสอบให้บริการมาตั้งแต่ปี 2017 บริษัทสตาร์ทอัพ “Nuro” ที่พัฒนายานยนต์สำหรับขนส่งสินค้าโดยร่วมมือกับร้านขายยายักษ์ใหญ่อย่าง CVS Toyota ที่เตรียมพร้อมรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ “e-Palette” สำหรับรับส่งนักกีฬาในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2021 รวมถึง “Apollo” โรโบรถแท็กซี่ของบริษัท Baidu ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทดลองวิ่งบนท้องถนนของกรุงปักกิ่ง เป็นต้น

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมานานหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนไปจากเดิม ประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาจุดยืนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โครงการ EEC จึงมีความเหมาะสมทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม อาทิ 5G, Fibre Optic, ศูนย์ข้อมูล Data Center ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทั้งระบบซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงการต่อยอดการพัฒนาทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยานยนต์สมัยใหม่ผ่านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต/ อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ อาทิ มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษีของภาครัฐ [สิทธิประโยชน์ Smart Visa] ฯลฯ ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนของผู้ผลิตต่างชาติ ทรัพยากรบุคคล และผู้เชี่ยวชาญให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอันจะก่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน และกระบวนการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยอีกด้วย

กระแสการตื่นตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงที่ผ่านมาส่งผลทำให้มีค่ายรถยนต์ระดับนานาชาติหลายรายให้ความสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจและจำเป็นต้องเร่งขยายผลการพัฒนาเพื่อยกระดับไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคตที่สำคัญของภูมิภาคต่อไปนั่นเอง