記事
Work-Life Balance สมดุลที่(อาจจะ)ไม่มีอยู่จริง
31/03/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
พวกเราคงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับเรื่องของ Work-Life Balance หรือสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำงานทุกคนใฝ่ฝันและพยายามที่จะสร้างสมดุลนี้ให้เกิดขึ้น แต่ในชีวิตจริงแล้วเราไม่มี ‘สวิทช์’ ที่จะสามารถสับเปลี่ยนระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้ และเราคงไม่สามารถสร้างเส้นแบ่งได้อย่างชัดเจนว่าสัดส่วนของงานและชีวิตส่วนตัวควรจะเป็นเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าสมดุล
ประเด็นเรื่อง Work-Life Balance เป็นสิ่งที่องค์กรหลายแห่งต่างให้ความสนใจมากขึ้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบ Work from Home ยิ่งสร้างความไม่ชัดเจนให้กับเส้นแบ่งระหว่างชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความเรื่อง “Why ‘Work-Life Balance’ Has Become A Career Dinosaur” จาก Forbes ซึ่งได้เล่าถึงความพยายามของหลาย ๆ องค์กรที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก Work-Life Balance ให้เป็น Work-Life Integration แต่ก็ยังมีคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าชีวิตงานจะเข้ามากลืนชีวิตส่วนตัวจนแยกออกจากกันไม่ได้ เหมือนที่หลาย ๆ คนกำลังรู้สึกถึงผลกระทบจากการทำงานแบบ Work from Home ว่าได้เปลี่ยนแปลงชีวิตส่วนตัวไปอย่างสิ้นเชิง จากการที่เทคโนโลยีเอื้อให้เราสามารถทำงานได้จากทุกที่ หรือถูกตามงานได้ตลอดเวลา ซึ่งในท้ายที่สุดบทความดังกล่าวได้เสนอว่า ‘Life Balance’ หรือสมดุลของชีวิตน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และเชื่อว่าน่าจะเหมาะกับบริบทในการดำเนินชีวิตของคนไทย
การสร้างสมดุลของชีวิตหรือ ‘Life Balance’ ให้เกิดกับพนักงานนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้บริหารองค์กรและทีมงานทรัพยากรบุคคล ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทัศนคติจากที่มองว่า พนักงานควรที่จะอุทิศแรงกายแรงใจให้กับการทำงานและองค์กรอย่างไร กลายเป็น องค์กรควรที่จะต้องพิจารณาตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพนักงานได้ (ด้วยความเต็มใจของพนักงาน) ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า “ที่ทำงานเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพนักงาน” แต่องค์กรหลายแห่งในฐานะเจ้าของบ้านกลับไม่เคยดูแลพนักงานในฐานะของสมาชิกในครอบครัวเลย เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ทางด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กรจะไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่การออกแบบระบบและการบริหารจัดการเพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพเท่านั้น แต่องค์กรจะต้องคิดครอบคลุมไปถึงกลยุทธ์ในการสร้างสมดุลชีวิตที่เหมาะสมให้กับพนักงาน ควบคู่ไปกับการทำให้พนักงานเชื่อมั่นว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ที่มีเป้าหมายและภารกิจร่วมกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่จะตามมาก็คือ พนักงานจะมีสุขภาพทั้งกายและใจที่แข็งแรงจากสมดุลชีวิตที่ดีขึ้น รู้สึกสนุกและท้าทายกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สภาพแวดล้อมของการทำงานที่เอื้อต่อการสร้าง Life Balance เป็นสภาพแวดล้อมที่เราพบได้ในบริษัท Start-up โดยทั่วไปซึ่งอยู่กันอย่างครอบครัวและมีเป้าหมายร่วมกัน จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนรุ่นใหม่สนใจที่จะร่วมงานกับบริษัท Start-up เหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังเชื่อว่าเส้นบาง ๆ ที่คั่นระหว่างชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวจะยังคงมีอยู่ต่อไป และตัวเราเองจะเป็นผู้ที่กำหนดจุดสมดุลของชีวิต เหมือนกับที่บทความจาก Forbes ได้สรุปเอาไว้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตเราก็เปรียบเสมือนการขับรถ เราสามารถควบคุมได้ว่าจะเหยียบคันเร่งหรือเหยียบเบรก เพื่อให้ไปถึงที่หมายในแบบที่เราต้องการ