記事
Organizational Resilience
08/02/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในขณะที่สถานการณ์โลกนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้นจนไม่สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดแบบเดิมในอดีตอย่าง VUCA World นาย Jamais Cascio นักพฤติกรรมศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกาจึงได้ออกมาให้นิยามสถานการณ์โลกในปัจจุบันว่าเป็นโลกแบบ BANI ซึ่งเต็มไปด้วยความเปราะบาง (Brittle) ความกังวล (Anxious) ความสับสน/ ยากที่จะคาดเดา (Nonlinear) และความยากที่จะเข้าใจ (Incomprehensible) นั่นเอง
ซึ่งในโลกแบบ BANI นี้ก็ได้สร้างแบบทดสอบมากมายให้กับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาราคาพลังงาน หรือ การแพร่ระบาดของไสรัส COVID-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งวิกฤตการณ์เหล่านี้ก็เป็นเหมือนแรงผลักดันหรือ Catalyst สำคัญที่ทำให้ ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องกลับมาพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการและปรับกลยุทธ์ทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
โดยหนึ่งในแนวทางที่หลายองค์กรต่างหันมาให้ความสำคัญและกำลังถูกกล่าวถึงในวงกว้าง ได้แก่ ความยืดหยุ่นขององค์กร (Organizational Resilience) หรือ ความสามารถในการคาดการณ์ เตรียมพร้อม ตอบสนอง และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจบริษัทกว่า 1,140 แห่งของ McKinsey บริษัทผู้ให้คำปรึกษาธุรกิจชั้นนำ ซึ่งพบว่าองค์กรที่มีความยืดหยุ่นนั้นยังคงความสามารถในการดำเนินธุรกิจและฟื้นตัวได้เร็วกว่าองค์กรทั่วไปดังสะท้อนจากการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นขององค์กรที่มีความยืดหยุ่น หรือ Resilient Organizations ที่สูงกว่าการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นขององค์กรทั่วไปถึง 10% ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2019 ถึงกลางปี 2020 ในขณะเดียวกันองค์กรเหล่านี้ยังสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นที่มากกว่าองค์กรทั่วไปได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอีกด้วย
ทั้งนี้ หลายองค์กรระดับโลกจึงต่างให้ความสำคัญกับการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อให้กับธุรกิจสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากบริษัทผู้เป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง Apple ที่มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ตลอดจนนำความรู้ บทเรียนจากความผิดพลาด และประสบการณ์มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และการให้บริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถดำรงอยู่ได้แม้ต้องผ่านกระแส Disruption ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมี Kroger หนึ่งในเครือข่ายร้านขายของชำที่ใหญ่ที่สุดจากประเทศอเมริกาที่ไม่เพียงแต่มีการเตรียมตัวตั้งรับเทรนด์ E-Commerce โดยการจับมือกับ Microsoft ในการพัฒนา/ ขยายช่องทางขายสินค้าออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับ Application อีกทั้งยังหันมาให้เพิ่มความหลากหลายของสินค้า อาทิ การเน้นขายอาหารสด (Fresh Food) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอาหารสดที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีมาตรการการกักตัวและ Work From Home ซึ่ง BCG บริษัทผู้ให้คำปรึกษาธุรกิจสัญชาติอเมริกันเองก็ได้ระบุไว้ในรายงาน How Resilient Businesses Created Advantage in Adversity During COVID-19 ว่าการปรับตัวดังกล่าวได้ส่งผลให้ Kroger สามารถลดผลกระทบจากวิกฤตและมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าบริษัทค้าปลีกทั่วไป เป็นต้น
ความไม่แน่นอนและกระแสการเปลี่ยนแปลง หรือ Disruption นั้นนับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ การสร้างความยืดหยุ่นในองค์กรจึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถก้าวข้ามและคว้าโอกาสจากวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา แทนที่จะเสียเวลาไปกันการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงและควบคุมได้นั่นเอง