記事

GEOECONOMICS

09/12/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในทศวรรษที่ผ่านมาการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีนส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมาก ซึ่งการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ของคุณโดนัลด์ ทรัมป์ก็ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากำลังจะยกระดับรูปแบบการแข่งขันจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ไปสู่ภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) ที่มุ่งเน้นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ เช่น การค้า การลงทุนและเทคโนโลยีเพื่อควบคุมห่วงโซ่อุปทานและใช้การต่อรองทางเศรษฐกิจเพื่อขยายอิทธิพลและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ประเทศจีนก็เป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้อำนาจทางภูมิเศรษฐศาสตร์ได้อย่างทรงพลังผ่านโครงการเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ Belt and Road Initiatives (BRIs) โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ในแถบยูเรเซียควบคู่กับการจัดตั้งสถาบันการเงินพหุภาคี อาทิ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ตลอดจนการริเริ่มและผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดระหว่างประเทศในทวีปเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศ ครอบคลุมประชากรกว่า 2.3 พันล้านคนและมี GDP ของประเทศสมาชิกรวมกันถึงหนึ่งในสามของ GDP โลก หรือความพยายามผลักดันสกุลเงินหยวนขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักเพื่อแข่งขันกับดอลลาร์สหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจและผู้นำระเบียบโลกเดิมจึงต้องต่อสู้เพื่อขัดขวางการเติบโตและการขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของจีน แนวคิด “America First” และ “Make America Great Again” ทำให้คาดการณ์ว่าในระยะสั้นรัฐบาลใหม่ยุค “ทรัมป์ 2.0” จะเลือกใช้นโยบายการแข่งขันที่เน้นเรื่องการตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากประเทศจีน รวมถึงการกำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อสกัดกั้นการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ภูมิเศรษฐศาสตร์กำลังนำพาโลกไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลก การแยกขั้วทางเศรษฐกิจ (De-coupling) ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจะทำให้ห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) ถูกแบ่งเป็น (1) ฝ่ายโลกตะวันตกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำและ (2) ฝั่งโลกตะวันออกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในอนาคตห่วงโซ่อุปทานทั้ง 2 สายก็อาจแยกออกจากกันอย่างถาวร และส่งผลทำให้โลกเข้าสู่ยุคทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-globalization) โดยการค้าเสรีที่เคยเป็นพลวัตสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกตั้งแต่ยุคหลังสงครามเย็นจะค่อยๆ สูญเสียบทบาทลงไป นอกจากนั้นในอนาคตภูมิเศรษฐศาสตร์ก็มีแนวโน้มที่จะซับซ้อนและทรงอิทธิพลมากขึ้นโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การพัฒนา Clean Technology ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เป็นต้น

ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงสามารถใช้ประโยชน์จากพลวัตภูมิเศรษฐศาสตร์ได้หลายประการ โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ของไทยนับเป็นจุดแข็งที่สำคัญทั้งท่าเรือน้ำลึก ท่าอากาศยาน และระบบคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกันสามารถส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ทั้งการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับอิทธิพลทางภูมิเศรษฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ควบคู่ไปกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาต่อยอดขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การลงทุนพัฒนาทักษะแรงงาน การส่งเสริมนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถคว้าโอกาสท่ามกลางความท้าทายทางภูมิเศรษฐศาสตร์นี้