文章
SHARING ECONOMY
10/04/2019คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
หนึ่งใน Megatrend ที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ คือ Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ซึ่งเป็นแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Peer to Peer (P2P) โดยเป็นการจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการที่มีทรัพย์สินหรือสิ่งของ เช่น ห้องพัก รถยนต์ แรงงาน ฯลฯ ที่ไม่ได้ใช้หรือมีมากเกินความจำเป็นกับผู้ใช้บริการที่มีความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ โดยการเช่า-ยืมแทนการครอบครอง ธุรกิจ Sharing Economy จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ให้บริการและในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการนำทรัพยากรที่ยังไม่ถูกนำมาใช้หรือทรัพยากรส่วนเกิน (Excess Capacity) มาจัดสรรให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ประชากรส่วนใหญ่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตและเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้โมเดลธุรกิจแบบ Sharing Economy สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจากการคาดการณ์ของ PWC ธุรกิจ Sharing Economy ของโลกจะเติบโตจาก 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2014 ไปเป็น 335,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 โดยภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุดคือ (1) กลุ่มท่องเที่ยว เช่น Airbnb ซึ่งเป็น Platform ให้บริการสถานที่พักโดยผู้ที่มีห้องว่างสามารถนำมาปล่อยเช่าให้แก่นักท่องเที่ยวได้โดยตรง (2) กลุ่มคมนาคมขนส่ง เช่น Uber Grab หรือ DiDi ที่เป็น platform เชื่อมระหว่างผู้ให้บริการขนส่งและผู้โดยสารที่มุ่งเน้นการให้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้านต่างๆ เช่น ความสะดวกสบายที่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ความปลอดภัยด้วยระบบ GPS ติดตาม อัตราค่าบริการที่เป็นมาตรฐานและระบบการชำระเงินออนไลน์ (3) กลุ่มทรัพยากรมนุษย์ เช่น Marketplace ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้จ้างงานกับแรงงาน เช่น Fiverr.com หรือ Upwork ที่ผู้จ้างสามารถเลือกรูปแบบการว่าจ้างได้หลากหลายทั้งแบบโปรเจคหรือแบบเต็มเวลา (4) กลุ่มบันเทิง เช่น Netflix หรือ Spotify ผู้ให้บริการสื่อระดับโลกผ่านระบบ streaming และคิดค่าบริการรายเดือน และ (5) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น WeWork หรือ Regus ผู้ให้บริการ Co-working space เป็นต้น
โครงการ EEC ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมระบบนิเวศของธุรกิจ Sharing Economy ของไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Tech Startups ที่จะเป็นผู้พัฒนา application หรือ platform ต่างๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ รวมถึงในอนาคตก็สามารถยกระดับโครงการ EEC ให้เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนธุรกิจ Sharing Economy ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ทั้งด้านภาษี ใบอนุญาต การจ่ายชำระเงินออนไลน์ ฯลฯ ให้ครอบคลุมเศรษฐกิจแบ่งปันสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือ เศรษฐกิจแบ่งปันแท้จริงที่เปิดกว้างและสามารถเชื่อมโยงผู้ให้และผู้ใช้บริการเข้าด้วยกันจนทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศอย่างคุ้มค่า ลดการสิ้นเปลือง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะยาว
Sharing Economy จึงเป็นเทรนด์การทำธุรกิจที่ disrupt รูปแบบการทำธุรกิจเดิมให้เปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์และระบบนิเวศแบบใหม่ที่ภาคธุรกิจกับภาคสังคมสามารถเกื้อหนุนและเติบโตไปด้วยกันมากยิ่งขึ้น การปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันที่เหมาะสมกับขนาดและประเภทธุรกิจของตนท่ามกลางบริบทที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับผู้ประกอบการชาวไทยในยุคที่เทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันไปพร้อมๆ กันเช่นนี้