文章
DIGITAL TRANSFORMATION
17/07/2019คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความต้องการของผู้บริโภคซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและเปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่มี Business Model รูปแบบใหม่เข้ามาแข่งขัน ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพหรือยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรของตนด้วยเช่นกัน
หลายปีที่ผ่านมา Digital Transformation กลายเป็นประเด็นที่เหล่าผู้นำธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญโดยแนวคิดของการ Transform นั้นไม่ได้หมายถึงแค่เพียงการพัฒนาเทคโนโลยีหรือระบบ IT ที่ทันสมัยเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน การบริหารจัดการธุรกิจทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบ การสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า การบริหารทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลไปจนถึงการสร้าง Mindset และวัฒนธรรมขององค์กร
เมื่อไม่นานมานี้ Cisco บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำได้เปิดเผยข้อมูลประมาณการมูลค่าตลาด Digital Transformation ทั่วโลกสำหรับปี 2019 ไว้ที่ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐและสำหรับประเทศไทยเอง Cisco คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดระหว่างปี 2019 ถึง 2022 จะสูงถึง 9.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐโดยแบ่งเป็นภาคเอกชนร้อยละ 80 และภาครัฐร้อยละ 20 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีของการตื่นตัวสำหรับทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐของไทย
Digital Transformation จึงเป็นการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้สามารถตอบสนองและเติบโตในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ธนาคารทั้งหลายต่างก็มุ่งสู่การเป็นสถาบันทางการเงินแห่งอนาคตผ่านการลงทุนระบบ IT เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาล การปรับองค์กรและกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น (Agile) ไปจนถึงการเร่งลงทุนหรือร่วมมือกับบริษัท FinTech/ Startup ต่างๆ เป็นต้น หรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ต่างก็ปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการต้นทุน เช่น การใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการจัดเส้นทางขนส่งสินค้า การบริหารทรัพยากรต่างๆ รวมถึงพัฒนาบริการให้มีความยืดหยุ่นและสามารถตอบโจทย์ความต้องการสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น
ซึ่งหากพิจารณา Digital Transformation ในบริบทระดับประเทศ นโยบายประเทศไทย 4.0 เองก็เป็นยุทธศาสตร์ของการปรับโฉมและเตรียมความพร้อมประเทศไทยสำหรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ 6 ด้าน ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐาน (2) เศรษฐกิจดิจิทัล (3) สังคมดิจิทัล (4) รัฐบาลดิจิทัล (5) ทุนมนุษย์ และ (6) กฎระเบียบที่ทันสมัย ซึ่งการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านนี้ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนสร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมด้วยข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
โครงการ EEC จึงเป็นส่วนสำคัญในฐานะโครงการต้นแบบเชิงพื้นที่สำหรับการทำ Digital Transformation ประเทศไทยตามแนวทาง Thailand 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ EEC จะกลายเป็นแหล่งพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลของบุคลากรและทรัพยากรบุคคลชาวไทยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับการ Transform ประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ
คงไม่ผิดนักหากจะมองว่า Digital Transformation คือยุทธศาสตร์ของการปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดและเติบโตในยุคที่เทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจซึ่งก็มีความสอดคล้องกับแนวคิด Digital Darwinism ที่ว่าด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วินในยุคดิจิทัลเป็นอย่างมากเลยทีเดียว