文章
AI FIGHT COVID
02/06/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า ณ เดือนพฤษภาคมทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมกว่า 170 ล้านคน และถึงแม้หลายประเทศจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีแต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พบการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จำนวนผู้ติดเชื้อทะยานสูงขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจนเกินขีดความสามารถในการรองรับของสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อปัญหาร่วมของระบบสุขภาพทั่วโลกคือ จำนวนความหนาแน่นและการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่มากพอ ผนวกเข้ากับการพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดนั้น ทำให้หลายประเทศมีความตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการทางการแพทย์ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากก็หนีไม่พ้น Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ โดย MarketsandMarkets สำนักวิจัยชั้นนำของโลกคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด AI ในการดูแลสุขภาพทั่วโลกจะเติบโตขึ้นจาก 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 45.2 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2569 โดยปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วคือ ปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลสุขภาพที่มีมากขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่พัฒนาสวนทางกับต้นทุน ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาก็นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการประยุกต์ใช้ AI ในทางการแพทย์เช่นเดียวกัน
ด้วยศักยภาพของ AI ที่สามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมถึงตัดสินใจได้แม่นยำจึงทำให้ AI กลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อพิชิตกับโรคระบาดได้ตั้งแต่การเฝ้าระวังและเตือนภัยจากคาดการณ์การแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนรับมือและยับยั้ง การคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงหรือการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโดยนำ Computer Vision มาช่วยตรวจจับความผิดปกติแบบอัตโนมัติเพื่อลดภาระของแพทย์และช่วยให้รักษาได้อย่างทันท่วงที การตรวจรักษาโดยนำ Deep Learning มาช่วยแพทย์ให้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดจนคิดค้นยาโดยใช้ Machine Learning วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่เหมาะสม คาดการณ์ความเป็นไปได้และประสิทธิภาพ เพื่อย่นระยะเวลาในขบวนการคิดค้นยาแต่ละชนิดทำให้สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือสตาร์ทอัพเองก็ได้มีการนำ AI มาช่วยรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด เช่น Bluedot สตาร์ทอัพจากแคนาดาที่ใช้ AI ติดตามการเกิดโรคระบาดทำให้ตรวจพบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่น หรือ Watson Assistant for Citizens ของ IBM ที่ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID ได้อย่างรวดเร็ว หรือบริษัท iFlytek ของจีนที่ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) พัฒนาแพลตฟอร์มวินิจฉัยการติดเชื้อโดยนำ AI มาวิเคราะห์ผลซีทีแสกนซึ่งอ่านผลได้เร็วกว่าคนถึง 300 เท่า หรือประเทศไทยเองก็มีบริษัท Perceptra สตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบ Inspectra CXR ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในการตรวจจับอาการติดเชื้อในปอดจากภาพถ่ายเอกซเรย์โดยได้นำระบบไปใช้ในโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่รับรักษาเคส COVID เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์และสามารถตรวจพบอาการ COVID ลงปอดได้ในระยะเวลาอันสั้น เป็นต้น
การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะทำให้ผู้คนทั่วโลกเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลแล้วยังกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในอัตราเร่ง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสุขภาพอีกด้วย