文章
CLIMATE ACTION
08/12/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้นได้ทวีความรุนแรงและได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง ในขณะที่ทั่วโลกต่างเร่งสร้างความร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว อาทิ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ที่ถูกจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น ภาคธุรกิจเองก็ได้มีการปรับตัวโดยมุ่งพัฒนาองค์กรไปตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งไม่เพียงแต่เน้นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลด้วยนั่นเอง
จากการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศ ผู้เขียนพบว่าหลายองค์กรได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรและลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น Google บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการขนส่งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน รวมถึงวางแผนการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตสินค้า อาทิ สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และลำโพงอัจฉริยะ ให้ได้ภายในปี 2022 นอกจากนี้ ยังมี Unilever บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศอังกฤษที่ได้เปลี่ยนมาใช้คาร์บอนหมุนเวียนในสูตรผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและซักผ้า โดย Unilever เองก็มีแผนที่จะเลิกใช้คาร์บอนที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2030 อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย รายงาน SDG Index ประจำปี 2021 ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ที่ 43 จากทั้งหมด 165 ประเทศ ด้วยระดับคะแนนที่ 74.2 ซึ่งสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 65.7 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดจะพบว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายสำคัญอยู่หลายด้าน อาทิ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี เป็นต้น ในแง่ของการพัฒนาการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ประเทศไทยจะมีความคืบหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ประเด็นดังกล่าวยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง โดยรัฐบาลได้มีความพยายามผลักดันการปรับปรุงดังกล่าวผ่านทางแผนพัฒนาต่างๆ อาทิ แผนพัฒนาด้านพลังงานทางเลือก และ แผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น โครงการ EEC ที่ได้กำหนดให้การลงทุนในพื้นที่ EEC จะต้องใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น
ตลอดจน ภาคเอกชนเองก็ต่างให้ความสนใจและพยายามนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น บริษัท WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WHA Group ก็ได้มีการตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 300 เมกะวัตต์ภายในปี 2023 อันจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 150 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อีกทั้ง บริษัท WHAUP ยังได้ร่วมลงทุนใน บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ที่เป็นบริษัทผู้พัฒนาโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 8.63 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าดังกล่าวถือเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยุโรป ติดตั้งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ บริษัท WHAUP เองก็ได้คาดการณ์ว่าโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งนี้จะสามารถช่วยกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิงได้กว่า 100,000 ตันต่อปีเลยทีเดียว
“ปัญหาสภาพภูมิอากาศ” นับเป็นปัญหาที่ไม่อาจละเลยได้อีกต่อไปและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาธุรกิจไปตามแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งระบบ (Lost Advantage) มากกว่าความได้เปรียบเรื่องต้นทุน (Cost Advantage) ตามแนวความคิดแบบเดิมในอดีต จึงจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภค รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกันได้อย่างแท้จริงในระยะยาวนั่นเอง