文章

FOOD FOR GOOD HEALTH

09/02/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพซึ่งไม่เพียงแต่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ อาทิ โรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจ แก่ผู้บริโภคได้เช่นกัน ในปัจจุบันกระแสรักและใส่ใจสุขภาพนั้นได้ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นทั้งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บและการป้องกันการเกิดโรคไปพร้อมๆกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคจึงต่างหันมาดูแลสุขภาพด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กร Globe Newswire ก็ได้คาดการณ์ว่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลกนั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 162 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2026 เท่ากับร้อยละ 9.2 เลยทีเดียว

หากพิจารณาถึงกลุ่มผู้บริโภค ผู้เขียนพบว่า กลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม Millennial และ Gen Z ได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้ ภาคธุรกิจอาหารต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ตัวอย่างเช่น Nestle บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้นำผล DNA ของผู้บริโภคมาวิเคราะห์เพื่อคิดค้นเมนูอาหารเฉพาะบุคคล หรือ DNA-based Diet ซึ่งไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีส่วนช่วยแก้/ บรรเทาปัญหาด้านสุขภาพของผู้บริโภคเฉพาะบุคคลได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมี Impossible Foods บริษัทผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการเทียบเคียงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีรสชาติดี อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วยนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย โครงสร้างของประชากรที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ กระแสรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็กระตุ้นให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพด้วยอาหาร ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของไทยนั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลขององค์กร Statista ที่ได้เปิดเผยว่าตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025 เลยทีเดียว ทั้งนี้ภาครัฐเองก็ได้มีความพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อาทิ โครงการ EEC ที่ได้เข้ามามีบทบาทในการผลักดันอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for Future) และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) ผ่านทางมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ ในพื้นที่ EEC โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดึงดูดนักลงทุนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมมือกับผู้ประกอบการชาวไทยในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี รัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้เกษตรและผู้ประกอบการด้านอาหารนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาเสริมศักยภาพของกระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนและต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหาร อาทิเช่น การวิจัยผลิตภัณฑ์จากแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ๆ (Alternative Protein) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Food Supplement) และอาหารที่มีการเติมสารอาหาร (Fortified Food) เป็นต้น ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น “ครัวของโลก” หรือแหล่งผลิตอาหารครบวงจรได้อย่างแท้จริง