文章

CPTPP

25/09/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อช่วงต้นปี 2560 ภายหลังการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เพียงแค่ 3 วัน สหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศถอนตัวออกจาก “The Trans-Pacific Partnership หรือ TPP” เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกที่เหลืออีก 11 ประเทศก็ตัดสินใจที่จะผลักดันความร่วมมือต่อไปภายใต้กรอบความร่วมมือใหม่ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP” ซึ่งข้อตกลงฯ ดังกล่าวนี้ก็ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อ 30 ธันวาคม 2561 รวมถึงยังได้เปิดรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย

โดยประเทศสมาชิกเดิมของ CPTPP ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนามโดยมีอีกหลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน รวมถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ CPTPP นับว่าเป็นข้อตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ที่มีความก้าวหน้าและครอบคลุมทั้งด้านการค้า การบริการ และการลงทุนผ่านการสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรองรับการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ อาทิ มาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานแรงงาน นโยบายการแข่งขัน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยก็ได้มีการศึกษาผลดีและผลเสียของการเข้าร่วมข้อตกลงฯ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนไปแล้ว ซึ่งข้อดีหลักของการเข้าร่วม CPTPP คือ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าเพิ่มเติมโดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโกที่ประเทศไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย รวมถึงผลประโยชน์ด้านการลงทุนจากต่างประเทศเนื่องจากการเข้าร่วมข้อตกลงฯ จะทำให้ไทยมีความน่าสนใจด้านการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิกโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของโครงการ EEC อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งหากประเทศไทยไม่เข้าร่วมก็อาจเสียโอกาสนี้ให้กับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น มาเลเซียหรือเวียดนามที่เป็นสมาชิกเดิมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าและบริการที่เปิดกว้างของ CPTPP อาจส่งผลให้บางอุตสาหกรรมในประเทศจำเป็นต้องเร่งปรับตัวจากการเข้ามาแข่งขันของต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมคือ อุตสาหกรรมเกษตรที่ต้องปรับโครงสร้างโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และธุรกิจบริการ เช่น การเปิดแข่งขันเสรีของบริการสาธารณสุข การโฆษณา การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ตลอดจนความกังวลเนื่องจากการเปิดโอกาสให้มีการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงทิศทางการค้าและการลงทุนของโลกในปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อีกนัยหนึ่งก็เป็นการกดดันให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งหาพันธมิตรเพิ่มเติม การเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP อาจเป็นตัวเลือกที่ประเทศไทยควรนำมาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและในขณะเดียวกันประเทศไทยก็จำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนทักษะแรงงานเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุนที่มีแนวโน้มจะเปิดเสรีมากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบัน

การรักษาโอกาสทางการค้าให้ทัดเทียมกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันจึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นผลดีและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศอย่างได้แท้จริง