文章

RCEP

18/12/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จากผลการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 35 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานคือ การประกาศบรรลุการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ASEAN +6) ซึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับภาคีอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ RCEP นับเป็นข้อตกลงที่มีความทันสมัยและครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งด้านสินค้าและบริการ การลงทุน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างกัน ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้าและกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกให้มากยิ่งขึ้น

โดย RCEP นั้นนับได้ว่าเป็นความร่วมมือที่มีขอบเขตใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมประชากรกว่า 3.6 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และมี GDP ของประเทศสมาชิกรวมกันกว่า 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบหนึ่งในสามของ GDP โลก ซึ่งมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในปี 2561 ก็มีมูลค่าสูงถึง 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยเลยทีเดียว

ความคืบหน้าล่าสุดจากเวทีการประชุม ASEAN Summit คือ ความสำเร็จของการเจรจาแบบ 15+1 โดยประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศได้ประกาศรับรองผลสรุปการเจรจา ยกเว้นเพียงแค่ประเทศอินเดียที่ขอเจรจาปรับรายการภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทและข้อกำหนดเงื่อนไขการค้าบางประการเพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลอินเดียยังคงมีความกดดันจากการขาดดุลการค้ากับ 15 ประเทศสมาชิกที่มีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำนวนครึ่งหนึ่งนั้นเป็นการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนซึ่งหากอินเดียเจรจาเปิดเสรีตลาดสินค้าในกรอบ RCEP ก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าและบริการจากจีนสามารถเข้าไปขายในอินเดียเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรมของอินเดียซึ่งรัฐบาลอินเดียก็จำเป็นต้องเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงต่อไป

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าไทยจะมี FTA กับ 15 ประเทศสมาชิกอยู่ก่อนแล้วก็ตามแต่ประเทศไทยเองก็จะยังได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้า RCEP เนื่องจากการเติบโตของห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงถึงกันของประเทศสมาชิกต่างๆ รวมถึง RCEP ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะสินค้าและบริการสำคัญของไทย เช่น สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร ฯลฯ รวมถึงการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของโครงการ EEC ไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกต่างๆ อีกด้วย

ข้อตกลง RCEP จึงเปรียบเสมือนหนึ่งในตัวเร่งให้เกิดการจัดสรรการผลิตและการลงทุนครั้งใหม่ภายในภูมิภาคควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องเร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการพัฒนาต่อยอดจากเศรษฐกิจดั้งเดิมไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ ตลอดจนยกระดับทรัพยากรมนุษย์ให้กลายเป็นแรงงานคุณภาพที่มีทักษะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมและบริการที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่างๆ เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลง RCEP แบบ 15+1 ในครั้งนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในฐานะตัวกลางที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีแบบพหุภาคีของกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การค้าและการลงทุนของภูมิภาคท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้นั่นเอง