文章
ENTREPRENEURIAL MINDSET
04/08/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันสภาวะแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากกระแส Digital Disruption ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้ธุรกิจทั่วโลกต่างต้องเร่งปรับตัวแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยังกลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ Disruption ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจึงเกิดเป็นความท้าทายใหม่เสมอ การปรับตัวเพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็น จึงกลายเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทุกคนต้องใส่ใจและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่การมีเพียงทักษะด้านความรู้และเทคนิค (Hard Skill) และทักษะด้านสังคม (Soft Skill) อาจไม่เพียงพออีกต่อไป อีกหนึ่งทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องมีในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะใหม่ที่พร้อมรับมือและอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยบริษัท Mckinsey เรียกทักษะนี้ว่า “Meta Skill” ซึ่งเป็นทักษะที่จะไม่เปลี่ยนแปลงตามการเวลา อีกทั้งยังทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปอีกด้วย โดยหนึ่งใน Meta Skill ที่สำคัญสำหรับยุคนี้คือ แนวคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset)
แม้แนวคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพนักงาน แต่แท้จริงแล้วแนวคิดแบบผู้ประกอบการนั้นไม่ได้ถูกจำกัดไว้สำหรับเจ้าของธุรกิจเท่านั้น พนักงานเองก็สามารถมีหัวใจแบบผู้ประกอบการได้เช่นกัน โดยการมีแนวคิดและทัศนคติในการทำงานเช่นนี้จะช่วยให้มีมุมมองในการทำงานที่ต่างไปจากเดิมและทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่มากขึ้นอีกด้วย แนวคิดแบบผู้ประกอบการนั้นเกิดจากการสอดผสานกันของหลายส่วนเข้าด้วยกัน แต่สำหรับสิ่งที่ผู้เขียนมักเน้นย้ำและปลูกฝังกับพนักงานในองค์กรเสมอคือ การไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่และหมั่นหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะการมีความรู้ความชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจเป็นการจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบมากเกินไป ต่างจากผู้ที่มีองค์ความรู้แบบ T-shape หรือการมีทักษะเชิงลึกในด้านหนึ่งและไม่หยุดที่จะเติมเต็มความรู้ให้รอบด้าน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เกิดความคิดนอกกรอบและนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป นอกจากนี้การฝึกให้พนักงานบริหารงานภายใต้ความขาดแคลนและพร้อมปรับเปลี่ยนแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้องค์กรสามารถเติบโตต่อไปได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อแนวคิดแบบผู้ประกอบการนั้นมีความเกี่ยวข้องต่อการประสบความสำเร็จทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและองค์กร จึงทำให้ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่เริ่มให้ความสำคัญในการบ่มเพาะแนวคิดและทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับพนักงาน โดยมุ่งหวังจะสร้างบุคลากรที่ไม่ได้มีแค่ความรู้ความสามารถตามตำแหน่งงานเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะที่รอบด้านและมีจิตวิญญานในการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากภายในอันจะเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น โครงการ ExpresSo และโครงการ Booster ของกลุ่ม ปตท. หรือ หรือโครงการ ZERO TO ONE by SCG ของเครือปูนซีเมนต์ไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนา Startup ภายในองค์กร เป็นต้น สำหรับ WHA Group เองก็มีโครงการ WHA Innovation Leader ที่ส่งเสริมทักษะและแนวคิดการบริหารแบบธุรกิจให้กับบุคลากร โดยเปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดริเริ่มและทดลองทำโครงการนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีโครงการบางส่วนได้ถูกนำมาพัฒนาต่อด้วยกลุ่มผู้อบรมเพื่อใช้งานจริงในธุรกิจ
ด้วยพลังของแนวคิดแบบผู้ประกอบการที่มักสร้างโอกาสให้กับตัวเองเสมอนั้น จะทำให้สามารถเอาชนะโลกแห่ง VUCA World ที่หลายคนหวาดกลัวได้ด้วยการมองโลกในมุมมองใหม่จากการมีวิสัยทัศน์ (Vision) ความเข้าใจ (Understanding) ความชัดเจน (Clarify) และความว่องไว (Agility) นั่นเอง