文章
ถอดบทเรียน...รถไฟความเร็วสูง
03/11/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อพูดถึงเมกะโปรเจคของประเทศไทย โครงการสำคัญอันดับต้นๆ ที่หลายท่านนึกถึงย่อมหนีไม่พ้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - นครราชสีมา - หนองคาย และ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยทุกวันนี้ก็มีหลายประเทศเป็นเจ้าของและครอบครองเทคโนโลยีการผลิตรถไฟความเร็วสูง หรือ High-Speed Rail (HSR) ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งประเทศผู้นำอุตสาหกรรมที่มีการวางแผนสร้างโมเดลธุรกิจและผลักดันให้อุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถกลายเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยี HSR มาใช้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมก็ต้องยกให้ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนนั่นเอง
จากการเปิดเผยข้อมูลของทางการจีน ปัจจุบันประเทศจีนมีสถานีรถไฟความเร็วสูงกว่า 425 สถานีกระจายอยู่ทั่วประเทศและครอบคลุมเชื่อมต่อกับมหานครที่มีประชากรอาศัยมากกว่า 5 ล้านคนถึง 28 แห่ง รถไฟความเร็วสูงจึงมีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาทางสังคมของจีนในทศวรรษที่ผ่านมาทั้งด้านการกระจายความเป็นเมือง (Urbanization) การเป็นทางเลือกของการเดินทาง/ การขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคต่างๆ ทั้งแนวตั้ง (Vertical) และแนวนอน (Horizontal) ที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง และต้นทุนต่ำ ตลอดจนบทบาทการส่งเสริมอุตสาหกรรมรอง อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน เป็นต้น
นอกเหนือจากการให้บริการภายในประเทศแล้ว เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของจีนยังรวมถึงยุทธศาสตร์การส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงผ่านโครงการสำคัญอย่าง Belt and Road Initiatives ทั้งเส้นทางยุโรป – เอเชียที่เชื่อมประเทศจีนเข้ากับทวีปยุโรปผ่านประเทศรัสเซียและเยอรมัน และเส้นทางคุนหมิง - สิงคโปร์ที่เริ่มต้นจากเมืองคุนหมิงของจีน ผ่านเวียงจันทน์ของลาว มายังจังหวัดหนองคายและเชื่อมต่อไปภาคใต้ของไทยผ่านกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียเพื่อเข้าสู่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย
เราจึงสามารถถอดบทเรียนความสำเร็จของจีนทั้งด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรและด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติให้กับภาคเอกชน ตลอดจนการที่ภาครัฐเป็นผู้ส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้และผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างประเทศเข้ากับเทคโนโลยีเดิมที่ผลิตได้ภายในประเทศเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงตามยุทธศาสตร์ BRIs รวมถึงปัจจุบันรัฐบาลก็มีแผนการพัฒนาเส้นทางและระบบรถไฟทั่วประเทศ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่ประเทศไทยจะหันกลับมาวางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยอาจพิจารณาถอดบทเรียนการพัฒนาของประเทศจีนแล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ก็อยู่ระหว่างการจัดเตรียมแผนพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางสำหรับโครงการ EEC ที่จะเชื่อมโยงเข้ากับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ในประเทศไทยที่กำลังมีการการขยายเส้นทางเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ผู้เขียนก็ขอเน้นอีกครั้งว่าเมื่อโอกาสดีมารอถึงตรงหน้าแล้วก็เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมแรงร่วมใจช่วยกันไขว่คว้าเอาไว้ เพราะครั้งนี้นับเป็นโอกาสหาได้ยากของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถคงความได้เปรียบท่ามกลางการแข่งขันในยุคศตวรรษที่ 21 ทีเดียว