文章

SATELLITE TECHNOLOGY

05/02/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้สามารถโคจรในอวกาศโดยการอาศัยแรงดึงดูดของโลกจึงทำให้ดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมสำหรับการติดต่อสื่อสารระยะไกลและถูกนำมาใช้กับกิจกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ได้มีการนำดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ทั้งด้านการสื่อสาร การทหาร อุตุนิยมวิทยา การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการสำรวจทางธรณีวิทยา การวางแผนการเกษตร การวางผังเมือง เป็นต้น

ดาวเทียมนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศเป็นอย่างมากซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ทำให้ธุรกิจดาวเทียมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่นกัน

ในอดีตการให้บริการดาวเทียมจะเน้นไปที่เทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรประจำ หรือ Geostationary Satellite Orbit (GSO) แต่แนวโน้มในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่การลงทุนในธุรกิจบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ Non-Geostationary Satellite Orbit (NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit) ที่เป็นดาวเทียมขนาดเล็กซึ่งต้นทุนที่ลดต่ำลงก็ส่งผลให้สามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปบนท้องฟ้าได้ปริมาณครั้งละหลายพันดวงและทำให้เทคโนโลยีดาวเทียมถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ต่างๆ อย่างแพร่หลาย อาทิเช่น การใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำ/ ปานกลางสำหรับการส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ การส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก หรือ การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพ รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูง เป็นต้น

LEO หรือ Low Earth Orbit ซึ่งเป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 – 2,000 กิโลเมตรจึงกลายเป็นดาวเทียมแห่งยุค Digital Disruption ที่แท้จริง โดยบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีระดับโลกต่างก็เร่งแข่งกันปล่อยดาวเทียม LEO ขึ้นสู่อวกาศ อาทิ SpaceX กับโครงการ “Starlink” ที่มีเป้าหมายการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วโลกด้วยแผนการส่ง LEO จำนวน 12,000 ดวงภายในปี 2027 หรือ โครงการ “Project Kuiper” ของ Amazon ที่มุ่งสร้างเครือข่ายของ LEO ที่ความสูง 3 ระดับรวม 3,236 ดวงเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลของทวีปอเมริกาใต้ หรือ Facebook, Google และ Apple ที่ต่างก็มีแผนการพัฒนาธุรกิจดาวเทียมสื่อสารเป็นของตนเอง

ดาวเทียม LEO จึงนับได้ว่าเป็น Exponential Technology สำคัญของยุคศตวรรษที่ 21 ที่จะมีส่วนพลิกโฉมการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในยุคของ 5G ที่จะต้องรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoTs จำนวนมหาศาลทั้ง Smart Home, Smart City, Drone รวมไปถึงการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน หรือการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น ซึ่งการขยายตัวของ 5G ก็จะส่งผลทำให้ความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น กระแสความนิยมดาวเทียมขนาดเล็กก็ช่วยเร่งให้อุตสาหกรรมดาวเทียมของไทยเกิดการพัฒนาด้วยเช่นกัน อาทิ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เองก็ได้มีการเจรจาร่วมเป็นพันธมิตรโดยได้เสนอให้มีการใช้พื้นที่สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของ CAT เพื่อรองรับกลุ่มดาวเทียม LEO กว่า 800 ดวง หรือ ทีมงาน KNACKSAT ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือก็สามารถส่งดาวเทียมที่ผลิตภายในประเทศขึ้นสู่วงโคจรในระดับความสูง 600 กิโลเมตรได้เป็นผลสำเร็จ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 จึงไม่เหมือนกับศตวรรษที่ผ่านๆ มา Exponential Technology ต่างๆ นอกจากจะมีศักยภาพสูงในตัวเองแล้ว หากนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมก็จะยิ่งทำให้ทรงพลังมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวเลยทีเดียว