文章
SILVER ECONOMY
14/10/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
Megatrends ที่โดดเด่นและมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมที่เป็นกระแสที่สุดในศตวรรษ 21 นี้ย่อมหนีไม่พ้น Aging Popultation หรือการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยที่มีสาเหตุหลักมาจากอัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกที่ลดลง รวมถึงการมีอายุที่ยืนยาวขึ้นเนื่องจากบริการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง UN ก็คาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 จำนวนประชากรทั่วโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปนั้นจะมีจำนวนรวมกว่า 1.5 พันล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรโลกจนทำให้หลายฝ่ายเริ่มเล็งเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับ Silver Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจใหม่ของผู้สูงวัย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ Characteristics ของกลุ่มสูงวัยในยุคดิจิทัลนั้นเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง โดยปัจจุบันผู้สูงวัยส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Active Aging หรือสูงวัยอย่างมีคุณภาพรวมทั้งเป็นกลุ่ม Upper Income ที่จำนวนเกินครึ่งหนึ่งยังเป็น Tech Savvy ที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมชอบค้นหาและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ชื่นชอบการท่องเที่ยวและการทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงใส่ใจเรื่องสุขภาพและความงาม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก็ทำให้กลุ่มสูงวัยกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็น Elderly-Friendly โดยเฉพาะ
Silver Economy จึงนับเป็น Blue Ocean และช่องว่างทางการตลาดสำหรับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วเป็นอันดับสามในทวีปเอเชียรองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังคาดการณ์อีกว่า ภายในปี 2031 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศและแม้ว่าผู้ประกอบการชาวไทยจะเริ่มเล็งเห็นถึงโอกาสและหันมาจับตลาดผู้สูงอายุมากขึ้น แต่สินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการและ lifestyle ของคนกลุ่มนี้ก็ยังมีจำนวนจำกัดรวมถึงมีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดอีกมาก ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะเตรียมความพร้อมเนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุและพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนี้
ซึ่งอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายทั้ง 10+2 ของโครงการ EEC เองก็สอดคล้องและสนับสนุนเทรนด์การเติบโตของ Silver Economy ทั้งทางตรง อาทิ (1) อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ, Telemedicine และ Home Healthcare สำหรับผู้สูงอายุ (2) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เช่น การวิจัยอาหารสำหรับผู้ที่มีปัญหาการขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์จากแหล่งโปรตีนทางเลือก สมุนไพรเพื่อความงาม/ Anti-aging (3) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เช่น การพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ (4) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น Smart Devices อุปกรณ์อัจฉริยะติดตามตัวต่างๆ หรือ (5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น รวมถึงยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางอ้อม อาทิ การปรับกระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบอัตโนมติเนื่องจากการลดลงของจำนวนประชากรวัยทำงาน การนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรม/ หุ่นยนต์บริการหรือแม้กระทั่ง AI มาทำงานร่วมกับมนุษย์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตและการบริการ เป็นต้น
การที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนนั้นจึงนับเป็นความได้เปรียบในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกรวมถึงเป็นแรงผลักดันผู้ประกอบการชาวไทยให้ปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างไปจากในอดีตและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดเฉพาะกลุ่มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตนั่นเอง