文章
Reopening the World
06/07/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนให้มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกต้องชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีประชากรได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความพร้อมด้านยาและการรักษาในปัจจุบัน ก็ได้ส่งผลให้ หลายประเทศเริ่มสามารถควบคุมสถานการณ์และเดินหน้าเปิดประเทศ (Reopening) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติให้กลับมาอีกครั้งนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงได้มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์และมาตรการการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาฟื้นตัว ดังจะเห็นได้จากประเทศในภูมิภาคยุโรปและอเมริกา ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นต้น ที่ได้ยกเลิกมาตรการการกักตัวและการตรวจ RT-PCR ให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว นอกจากนี้ ยังมีประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ต่างๆ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะด้วยเช่นกัน
แม้หลายประเทศต่างเริ่มทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่าการท่องเที่ยวของโลกนั้นมีการฟื้นตัวท่ามกลางแรงกดดันจากความผันผวน อาทิ สงครามรัสเซียและยูเครน วิกฤตพลังงาน และการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น จึงทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างไม่รวดเร็วนัก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ในเดือนมีนาคม 2022 ที่ได้เปิดเผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศนั้นได้มีการปรับตัวสูงขึ้นแต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่น้อยกว่าในช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ถึงร้อยละ 61 เลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งภาครัฐก็ได้มีความพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน ทัวร์เที่ยวไทย และ Phuket Sandbox เป็นต้น อีกทั้งยังมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ด้วยความพยายามดังกล่าวก็ทำให้ในปี 2022 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วมากกว่า 1 ล้านคน และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมต่างๆ ที่เชื่อมโยงภายในโครงการ EEC ที่รัฐบาลกำหนดให้มีการพัฒนาก็ล้วนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกภายหลังจากวิกฤต COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา เส้นทางมอเตอร์เวย์ ตลอดจนเมกะโปรเจคอื่นๆ เป็นต้น ที่จะช่วยเปิดศักยภาพการท่องเที่ยวของพื้นที่ใหม่ๆ ทำให้สามารถกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองอันจะเป็นการสร้างสมดุลและกระจายรายได้สู่จังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่ภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนเองก็ควรร่วมพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเตรียมความพร้อมระหว่างที่รอการกลับมาของนักท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19 ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism ในระยะยาวนั่นเอง