文章
AI TRANSFORMATION
10/06/2024คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นับเป็นเวลากว่าสิบปีที่ประโยคโด่งดังของคุณ Marc Andreessen ที่กล่าวไว้ว่า “ซอฟต์แวร์กำลังจะกลืนกินโลก” หรือ “Software is Eating the World” ได้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ซึ่งการเติบโตของอินเตอร์เน็ตและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็มีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนทิศทางของโลกธุรกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
Digital Transformation หรือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ตัวอย่างเช่น Amazon, Google, Grab, WeChat, TikTok ฯลฯ ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สร้างธุรกิจใหม่จนดิสรัปธุรกิจแบบดั้งเดิม หรือในระดับองค์กรที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน (Business Process) เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลปริมาณมากด้วยต้นทุนที่เหมาะสม (Big Computation + Big Data) ศาสตร์ด้านอัลกอริทึมและรูปแบบเชิงสถิติที่ทำให้เครื่องกลสามารถเรียนรู้จากข้อมูล อาทิ Machine Learning, Deep Learning และ Artificial Intelligence จึงได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบัน Generative AI เช่น ChatGPT, Gemini, Copilot ที่มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่จากการเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมหาศาลกำลังได้รับความนิยมจนหลายท่านเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือนสัญญาณการเริ่มต้นของยุค AI is Eating Software ที่จะมีศักยภาพเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การแข่งขันของภาคธุรกิจเช่นเดียวกับอินเตอร์เน็ตและซอฟต์แวร์ในอดีต โดยรายงาน Top Strategic Technology Trends ปี 2024 ของ Gartner ได้คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่จะเน้นการพัฒนาแอปพลิเคชันอัจฉริยะ (Intelligent Application) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างซอฟต์แวร์ (Software) ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าไว้ด้วยกันจนสามารถที่จะเรียนรู้และตอบสนองได้อย่างต่อเนื่อง
AI Transformation จึงเป็นการต่อยอดและยกระดับ Digital Transformation จากการวางระบบฐานข้อมูล กระบวนการทำงาน และโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัลไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสั่งการและตัดสินใจ ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์ใช้ AI ในกระบวนการ Research and Development (R&D) เพื่อออกแบบรถยนต์ไปจนถึงการใช้ AI ในกระบวนการผลิตและบริหารจัดการซัพพลายเชน รวมถึง AI ยังเป็นเทคโนโลยีสำคัญสำหรับการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ (2) ธุรกิจธนาคารและบริการทางการเงินนำ AI มาใช้สนับสนุนการประมวลผลข้อมูลลูกค้าเพื่อลดระยะเวลาพิจารณาสินเชื่อ การให้บริการลูกค้าส่วนบุคคล แนะนำการลงทุน หรือการประยุกต์ใช้ AI ในกระบวนการบริหารความเสี่ยง ตรวจจับรูปแบบการฉ้อโกง รวมถึงการป้องกันภัยทางไซเบอร์ (3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เทคโนโลยี AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ Logistics 4.0 ทรานส์ฟอร์มกลายเป็น Logistics 5.0 ที่มีความยืดหยุ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถทำงานประสานกับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี (4) อุตสาหกรรมสาธารณูปโภคและพลังงาน AI จะมีบทบาทด้านการวิเคราะห์และช่วยควบคุมการทำงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสิ้นเปลือง ตลอดจนสามารถช่วยพยากรณ์ คาดคะเน และเพิ่มเสถียรภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
ทั้งนี้การผลักดัน AI Transformation ให้ประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงภายในองค์กรจำเป็นต้องมีการวางกลยุทธ์และดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ควบคู่ไปกับการสื่อสารเพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกจนนำไปสู่การยกระดับทักษะและเปลี่ยนบทบาทการทำงานร่วมกับ AI เช่น บทบาทผู้กำหนดและสั่งการ AI เพื่อลดภาระงานประจำวัน หรือการนำ AI มาช่วยเพิ่มผลิตภาพสำหรับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบ ข้อควรระวัง และการใช้งานเทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน