記事
SILVER ECONOMY 2
01/07/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อเดือนก่อนหลายท่านคงมีโอกาสอ่านบทความ Sliver Economy ของผู้เขียนที่เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมของกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่มนี้ไปแล้ว สำหรับอาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันต่อถึงกำลังซื้อของกลุ่มสูงวัย รวมถึงอุตสาหกรรมของไทยที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้กันค่ะ
กลุ่มสูงวัยเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Nielsen ประจำปี 2563 เปิดเผยถึงสัดส่วนของกลุ่มสูงวัยชาวไทยอายุระหว่าง 55-59 ปีที่อยู่ในกลุ่ม Upper Income ว่ามีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 19.4 ของประชากรไทยทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่เท่ากับร้อยละ 15 ตลอดจนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ประเมินว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปีอีกด้วย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยทั้งด้านความพร้อมของสถานพยาบาลและความเข้มแข็งของบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังจำเป็นต้องนำโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศในอดีตมาต่อยอดโดยการพัฒนาให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่งเมื่อประกอบเข้ากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสูงวัยก็ทำให้ Digital Healthcare กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการของไทยที่น่าจับตามอง
แนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการดูแลตนเองหรือการอาศัยอยู่ตามลำพังนับเป็นโอกาสอันดีที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัย เช่น เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถปรึกษาแพทย์ได้ตลอดเวลา ตลอดจนจัดส่งยาไปที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือหุ่นยนต์ผู้ดูแล (Care Bots) ที่สามารถติดตามดูความปลอดภัยของผู้สูงอายุเมื่อหายไปจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่งหรือไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน หรือ อุปกรณ์อัจฉริยะติดตามตัว (Smart Devices) ที่ช่วยตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ คลื่นชีพจร หรือตรวจสอบการล้มและสามารถเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับกระแส Silver Economy คือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่ประเทศไทยเองก็มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลาง Medical Tourism หลักของภูมิภาค ด้วยความพร้อมทั้งด้านจำนวนโรงพยาบาลมาตรฐานสากลที่มีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก คุณภาพของบุคลากรสาธารณสุข อัตราค่ารักษาบริการ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายและโรงแรมที่พักจำนวนมากก็นับเป็นโอกาสดีที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดเพื่อเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวแบบครบวงจรที่เชื่อมโยงข้อมูลทั้งโรงพยาบาล โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน หรือ แคมเปญการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long stay) สำหรับผู้สูงอายุโดยนำเทคโนโลยีแผนที่และระบบติดตามตัวมาใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศในเอเชียที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุจึงนับว่ามีศักยภาพอย่างมากสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่จะนำความได้เปรียบจากโครงสร้างพื้นฐานเดิมมาต่อยอดโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้และพัฒนากลายเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้วและสร้างฐานการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตนั่นเอง