記事
CHANGE MANAGEMENT
20/10/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนและความท้าทายใหม่ๆ ส่งผลให้องค์กรภาคธุรกิจต่างต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการดำเนินธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ การบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยนำพาองค์กรให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันนั่นเอง
การบริหารการเปลี่ยนแปลง หมายถึง กระบวนการ เครื่องมือ และเทคนิคในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ช่วยให้องค์กรสามารถลำดับขั้นตอนการบริหารการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีทิศทาง ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง และสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดไว้ แม้การทำ Change Management ภายในองค์กรจะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม Gartner ได้เปิดเผยว่ามีองค์กรเพียงร้อยละ 34 ที่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมาย (Change initiatives) ที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหาร ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องอาศัยการสื่อสารภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้บุคลากรมีความเข้าใจถึงเหตุผล กระบวนการ และเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอีกด้วย
จากการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น เป็นต้น ผู้เขียนพบว่ามีองค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กรกำลังให้ความสำคัญกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร อาทิเช่น Google บริษัทผู้พัฒนาเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เร่งนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ยังมี Toyota บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กรจากที่เคยให้ความสำคัญกับความอาวุโส/อายุการทำงานไปเป็นการส่งเสริมบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความคิดเชิงนวัตกรรม เปิดรับความท้าทาย และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย หลายองค์กรชั้นนำก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิดการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและค้นหาศักยภาพใหม่ให้กับองค์กร ตัวอย่างเช่น WHA Group ที่ผู้บริหารได้ส่งเสริมให้มีการ transform องค์กรอย่างจริงจังผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิ WHA Digital Transformation ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาธุรกิจ รวมถึงคิดค้นโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรมใหม่ๆ โดยกลุ่มบริษัทได้กำหนดให้มีทีม WHAppy Agent ซึ่งป็นตัวแทนจากแต่ละภาคส่วนขององค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสาร/ ประสานงานเกี่ยวกับโครงการ change initiative ต่างๆ อีกทั้งยังช่วยกำกับดูแล/ ติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นและได้ผลลัพธ์ตามที่ได้คาดหวังไว้ด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมี KBTG บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในเครือธนาคารกสิกรไทยที่ได้พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรไปสู่ One KBTG ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร/ กระบวนการทำงานให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเน้นการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำงานและตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน
ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่องค์กรต่างๆจะสามารถนำเอาหลักการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) มาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการนำแนวคิดดังกล่าวมาวางรากฐาน/ เป้าหมายทางธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้องค์กรสามารถสร้างความยืดหยุ่น/ ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถพัฒนาไปสู่องค์กรแห่งอนาคตผ่านทางการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมสมัยใหม่ ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ได้ด้วยนั่นเอง