記事

AGRICULTURAL TECHNOLOGY

22/12/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ภาคการเกษตรถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยในปีที่ผ่านมา ภาคการเกษตรมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างงานให้กับประชากรกว่า 1 ใน 3 ของประเทศและยังเป็นต้นน้ำที่เชื่อมโยงไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการไม่ว่าจะเป็นผลิตภาพต่ำ ต้นทุนสูง ราคาผลผลิตผันผวน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ปัญหาด้านแรงงาน ที่คนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรน้อยลง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคการเกษตรช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเติบโตของภาคการเกษตรของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าภาคการผลิตและบริการอื่นๆ โดยมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 2.3 ซึ่งการเติบโตที่ค่อนข้างช้านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ขาดการบริหารจัดการที่ดีและการพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก

ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสวนทางกับต้นทุนส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการเกษตร (Agricultural Technology) ที่สามารถเข้ามาช่วยปลดล็อคความท้าทายหลายประการของภาคการเกษตรได้ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกก็ได้มีการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพและปริมาณผลผลิตอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเทคโนโลยีต่างๆ นั้นสามารถนำมาพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการการเกษตรได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว

ตัวอย่างเช่น การใช้ IoT ควบคู่กับ Big Data ที่ทำให้เกษตรกรสามารถติดตาม ตรวจสอบ เก็บข้อมูลด้านการเกษตรต่างๆ แบบเรียลไทม์และนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์/ปัญหา หาแนวทางบริหารจัดการ และตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะทำหน้าที่คิดวิเคราะห์และตัดสินใจแทนมนุษย์ได้อีกด้วย หรือการนำหุ่นยนต์ โดรนและระบบอัตโนมัติเข้ามาทุ่นแรง/ทดแทนแรงงานคน เป็นต้น โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยตอบโจทย์การก้าวข้ามผ่านการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศให้ไปสู่การทำการเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Farming) ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาด้านคุณภาพ ต้นทุน แรงงาน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้แต่ก็ยังคงไม่เป็นที่แพร่หลายมากเพียงพอ อย่างไรก็ตาม โครงการ EEC เองก็ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร โดยได้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2566-2570 ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ EEC เป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศโดยจะถูกพัฒนาตามกรอบแนวคิด “ตลาดนำการผลิต” (Demand pull)ที่เน้นการพัฒนาเชื่อมโยงภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอนาคต และ “การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี” (Technology Push) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาอันจะเป็นส่วนช่วยในการยกระดับภาคการเกษตรและทำให้สามารถเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูงเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกันกับทุกอุตสาหกรรมที่เส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจะค่อย ๆ เลือนลาง การเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นเกษตรสมัยใหม่จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและทำให้ภาคการเกษตรสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต