記事

#10YearChallenge

06/02/2019

ช่วงที่ผ่านมานี้ #10YearChallenge มาแรงและเป็นที่นิยมอย่างมากใน Social Media อาทิตย์นี้ผู้เขียนจึงขอเกาะกระแสพาทุกท่านย้อนเวลาไปดูพัฒนาการของประเทศไทยในช่วง 10 ปีกันบ้าง

หากพูดถึงปี 2550 – 2551 หลายท่านคงนึกถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลกซึ่งแม้ว่าภายหลังเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นรวมถึงประเทศไทยได้กำหนดให้มีนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายจึงทำให้เศรษฐกิจของไทยสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตดังกล่าว แต่หากพิจารณาช่วง 10 ปีหลังจากนั้น ผู้เขียนพบว่า ภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำและมีการเติบโตในลักษณะที่ถดถอย การส่งออกซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศมีการเติบโตที่ลดลง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก

จากการเปิดเผยรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลกโดย IMD ผู้เขียนพบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับลดลงจากอันดับที่ 26 ในปี 2552 กลายเป็นอันดับที่ 30 ในปี 2562 เช่นเดียวกันกับ WEF ที่พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ 36 ในปี 2552 และลดลงเป็นอันดับที่ 38 ในปี 2562

เมื่อพิจารณารายละเอียดปัจจัยที่เกี่ยวข้องผู้เขียนยังพบอีกว่า ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างมุ่งพัฒนาขีดความสามารถเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการแต่ประเทศไทยกลับประสบอุปสรรคต่างๆ อาทิเช่น การพัฒนานวัตกรรม ที่ประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตนเองได้รวมถึงประสบปัญหาการผลักดันงานวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ไม่สอดคล้องระหว่างการผลิตบุคลากรกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณและทักษะความรู้ กฎระเบียบของภาครัฐ ที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ อาทิ กฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนและไม่จำเป็น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่ประเทศไทยขาดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มาเป็นเวลานานทำให้ต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์อยู่ในระดับสูงและ การรวมกลุ่มทางธุรกิจที่ยังไม่เข้มแข็งทั้งในอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ทศวรรษที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าท้ายที่สำคัญ โครงการ EEC จึงถูกออกแบบโดยมุ่งพัฒนาใน 6 มิติ ได้แก่ (1) ด้านการต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมหลากหลายรูปแบบและเชื่อมโยง (3) ด้านการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (4) ด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ 5) ด้านการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และ (6) ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งแผนการพัฒนาทั้ง 6 ด้านดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้สอดคล้องกับแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกลไกเศรษฐกิจของไทยทั้งด้านการผลิต การเกษตร และอุตสาหกรรมและบริการโดยเน้นการใช้องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์แทนการใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) จากทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิตซึ่งหากโครงการ EEC ประสบความสำเร็จทางรัฐบาลก็จะนำ EEC model ไปต่อยอดเพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาเชิงพื้นที่สำหรับภาคอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป

การร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้าม #10YearChallenge นี้ ตลอดจนมีความสมบูรณ์ของปัจจัยพื้นฐานและระบบนิเวศที่จะสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอันจะส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืนและกลับมายืนอยู่แนวหน้าของภูมิภาคได้อย่างแน่นอน