記事
NEXT-GENERATION AUTOMOTIVE
13/02/2019อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมานานกว่า 40 ปี โดยในปีที่ผ่านมาการส่งออกรถยนต์ของไทยมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 6.5 ของ GDP ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้มีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัติโนมัติมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การออกแบบ คิดค้นและพัฒนายานยนต์เทคโนโลยีใหม่เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม หรือแม้กระทั่งการเกิดขึ้นของผู้เล่นที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่เข้ามา disrupt เพราะพลังของเทคโนโลยีที่ทำให้การแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลไร้ขอบเขตและเปิดเสรีอย่างเช่นในปัจจุบัน
บริษัท Daimler AG ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกได้ให้คำจำกัดความของยานยนต์สมัยใหม่โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) 2. ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) 3. ยานยนต์เชื่อมโยง (Connected Vehicle เช่น IoTs) 4. ธุรกิจการให้บริการยานยนต์แบบใหม่ (Shared & Serviced) ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์โลกต่างมุ่งไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นทั้งในด้านการมุ่งใช้พลังงานสะอาด การใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการสื่อสารและควบคุมไปจนถึงการนำปัญญาประดิษฐ์หรือ Algorithm ขั้นสูงเข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย
ประเทศไทยเองก็ได้มีการบรรจุอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมภายในพื้นที่โครงการ EEC ซึ่งปัจจุบันเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของไทยและของภูมิภาค โดยมุ่งให้การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปเชิงกลที่เป็นจุดเด่นของไทยเพื่อรองรับพัฒนาการของแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์โลก รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบหรือผลิตรถยนต์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) สำหรับการผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในยานยนต์ และ อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ในการเชื่อมต่อ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยานยนต์สมัยใหม่
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเร่งให้มีการนำ EV มาใช้อย่างแพร่หลายซึ่งแผนการส่งเสริม EV เองก็จะกลายเป็น platform พื้นฐานสำหรับการพัฒนา Connected และ Autonomous Vehicles ในลำดับต่อไป จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ของไทย อาทิเช่น ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านความสะดวกสบายและความบันเทิงของผู้ขับขี่ ผู้ผลิตและจัดหาอุปกรณ์เชื่อมต่อ เป็นต้น ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่นี้
อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตหลักของภูมิภาคจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อช่วงชิงพื้นที่ห่วงโซ่การผลิตยานยนต์แห่งอนาคตโดยเฉพาะในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีนี้ ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐในฐานะผู้ให้การสนับสนุน และผู้ประกอบการระดับต่างๆ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบทางตรงจากการเปลี่ยนแปลงจะเป็นตัวชี้ชะตาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยว่าจะสดใสกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง หรือจะตกขบวนถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีใหม่ๆ รอวันที่จะถูกลืมเลือนเหมือนกรณีศึกษาที่มีอยู่แล้วมากมาย