記事
SMART VISA
06/03/2019คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดหมายการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศรายได้สูง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทักษะและระดับการพัฒนาของแรงงานไทยยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล แม้ว่าทุกภาคส่วนจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ
การจัดหาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นภายในพื้นที่โครงการ EEC จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างให้ความสนใจ โดยทุกภาคส่วนต่างร่วมมือช่วยกันวางแผนการผลิตกำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่องแต่การพัฒนาระดับความรู้ความสามารถและทักษะของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ต้องใช้ความรู้และทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ในช่วงแรกอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่จำเป็น อาทิ วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ นักวิจัยเทคโนโลยีวัสดุ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นต้น รัฐบาลจึงได้กำหนดให้มีมาตรการเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
Smart Visa เป็นโครงการวีซ่าประเภทพิเศษที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 อุตสาหกรรม (S-Curve) รวมถึง 3 อุตสาหกรรมที่ประกาศเพิ่มเติม ได้แก่ การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารระดับสูง นักลงทุน และผู้ประกอบการ Startup ให้เข้ามามีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและตอบสนองการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและนโยบายตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ซึ่งสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่ถือ Smart Visa ก็จะเพิ่มเติมจากวีซ่าปกติ อาทิเช่น อนุญาตให้ผู้ถือสามารถอาศัยในประเทศไทยได้สูงสุดถึง 4 ปี และขยายเวลาการรายงานตัวจาก 90 วันเป็นทุกๆ 1 ปี รวมถึงสามารถใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยานระหว่างประเทศทุกแห่งในการเข้า-ออกประเทศไทยได้ เป็นต้น
การกำกับดูแลและการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เสรีมากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวทัดเทียมนานาประเทศ การเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นจะช่วยตอบโจทย์อุปสรรคการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์อันจะนำไปสู่การยกระดับภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานตำแหน่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนั้นๆ อาทิเช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและการซ่อมบำรุง เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือหุ่นยนต์ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาทรัพยากรบุคคลและแรงงานจากต่างประเทศเป็นเพียงวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถที่สอดคล้องและรองรับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลที่มีนโยบายสำคัญอย่าง Thailand 4.0 เป็นแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั่นเอง