記事

THE FUTURE IS ASIAN

20/11/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

โลกกำลังหมุนจาก “Western” มา “Eastern” เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนพูดอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสและสอดคล้องเป็นอย่างมากกับหนังสือ “The Future is Asian” ซึ่งเขียนโดยคุณ Parag Khanna ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้คุณ Parag ได้เปรียบเทียบยุคศตวรรษที่ 19 ว่าเป็นยุคของประเทศกลุ่มยุโรปเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกและลัทธิจักรวรรดินิยม ศตวรรษที่ 20 ว่าเป็นยุคสมัยของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเริ่มเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น (Cold War) ตามมาด้วยยุคแห่งโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการค้าเสรี จนกระทั่งปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 ที่การเสื่อมถอยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศกลุ่มตะวันตกได้ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนย้อนกลับมาสู่การเป็นยุคแห่งภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง

ภูมิภาคเอเชียมีประวัติศาสตร์อันยาวนานรวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมสำคัญของโลกมากมายเนื่องจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเมืองและแนวความคิด ปัจจุบันทวีปเอเชียมีประชากรราว 4.5 พันล้านคน คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก ตลอดจนมี GDP รวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด ซึ่งคุณ Parag ก็ได้เน้นย้ำว่าภูมิภาคเอเชียนั้นเป็นมากกว่าเพียง “China Plus” เพราะถึงแม้ประเทศจีนจะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมี GDP at Purchasing Power Parity (PPP) แซงหน้าประเทศสหรัฐฯ ไปแล้วก็ตามแต่ภูมิภาคเอเชียเองก็เป็นอนาคตของจีนด้วยเช่นกัน เนื่องจากประชากรของจีนคิดเป็นสัดส่วนแค่ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งทวีปและ GDP ของจีนก็มีจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งภูมิภาคเอเชียจึงทำให้จีนก็ยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนในประเทศกลุ่มเอเชียอื่นๆ ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน

Belt and Road Initiative (BRI) จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีนที่มุ่งจะเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการขนส่งคมนาคม พลังงาน โทรคมนาคมสื่อสาร รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันโดยอาศัยแนวความคิดจากเส้นทางสายไหมโบราณที่เกิดขึ้นเมื่อ 114 ปีก่อนคริสต์ศักราชและส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างกว้างขวางภายในภูมิภาค ซึ่งจีนก็ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ตลอดจนผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือ ASEAN + 3 (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) เป็นต้น

นอกจากนั้น หนังสือ “The Future is Asian” ยังได้แบ่งช่วงระยะเวลาการเติบโตของยุคเอเชียใหม่ออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ (1) ประเทศญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลก (2) กลุ่มประเทศ Tigers - เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ตามด้วยประเทศจีนในทศวรรษที่ผ่านมา และสุดท้าย (3) ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับประเทศไทยที่จะฉกฉวยโอกาสจากการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด ตลอดจนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชีย อาทิเช่น การเติบโตของ E-Commerce เทคโนโลยี 5G การแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฯลฯ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยของเรา

บทสรุปที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้สำหรับผู้เขียนก็คือ เมื่อทิศทางของโลกได้หมุนกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง ประเทศไทยก็จำเป็นต้องเรียนรู้ เร่งปรับตัว และต่อสู้เพื่อสร้างอนาคตสำหรับวันข้างหน้าเพราะการอยู่เฉยๆ ก็เท่ากับการถอยหลังรอคอยเวลาที่จะเสื่อมถอยลงไปนั่นเอง