記事

Global Initiatives for Circular Economy

16/10/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการผลิตและความต้องการบริโภคเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้สะดวกสบาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ก่อให้เกิดวิกฤติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันกลับมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างจริงจัง

หนึ่งในแนวทางลดผลกระทบเชิงลบนี้คงหนีไม่พ้น การดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ตามแนวคิดของ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เริ่มได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญกับคุณค่าของทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนอยู่ในกระบวนการผลิตและบริโภคผ่านการนำมาผลิตใหม่หรือนำมาใช้ซ้ำ (Make-Use-Recycle) ซึ่งแตกต่างจากวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีลักษณะเป็น Linear Economy หรือเศรษฐกิจเส้นตรง (Take-Make-Dispose) ที่ทำให้เกิดของเหลือจำนวนมหาศาล ณ ปลายทาง ในขณะที่ต้องดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อการผลิตอย่างไม่สิ้นสุดนั่นเอง

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างก็พยายามขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกันอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น รัฐบาลของ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ลงทุนในเทคโนโลยีและกลยุทธ์เพื่อลดการสร้างขยะ ส่งเสริมการรีไซเคิลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจวงจรที่ยั่งยืนได้ด้วย หรือ กลุ่มประเทศยุโรป ที่คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission ได้ออก Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) 2023 กฎหมายใหม่ที่กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่ทั้งหลายเผยแพร่รายงานการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งช่วยให้นักลงทุน ผู้บริโภค ผู้วางเงื่อนไข และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถประเมินผลประกอบการที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน พร้อมกับส่งเสริมแนวทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมี ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีนโยบายการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ทั้งหมดภายในปี 2050 ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การเงิน และการตลาด โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการบริโภคของวัตถุดิบ/ วัสดุตั้งต้น (primary raw materials) ให้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

สำหรับประเทศไทยก็อยู่ในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้เช่นกันซึ่งโครงการ EEC ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนผ่านวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green : BCG Economy) ซึ่งเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้มีความพยายามส่งเสริม Circular Economy อยู่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น WHA Group ที่ได้พัฒนาโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนหลายโครงการ อาทิ (1) โครงการ WHA Circular Innovation ที่มีวัตถุประสงค์หลักที่จะพัฒนาแผนปฏิบัติการไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยโครงการดังกล่าวได้ผลักดัน initiatives ด้านนวัตกรรมที่ส่งเสริมการก้าวไปสู่ Circular Economy มากกว่า 40 initiatives (2) โครงการ Waste Management หรือตลาดออนไลน์สำหรับแลกเปลี่ยนขยะที่เชื่อมโยงผู้สร้างขยะกับผู้บริโภคขยะ โดยมีเป้าหมายในการลดขยะที่จะถูกนำไปฝัง และเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ และ (3) โครงการ WHA Emission Trading ซึ่งได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น

การขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาครัฐและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการปลี่ยนแปลงในช่วงแรก ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมถึงภาคสังคมและผู้บริโภคก็จำเป็นต้องตื่นตัวและเห็นถึงความสำคัญเช่นเดียวกันจึงจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริงนั่นเอง