記事
PUBLIC PRIVATE PARTNERSHIP
22/12/2018คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ช่วงที่ผ่านมาหากท่านผู้อ่านติดตามข่าวของโครงการ EEC คงได้รับทราบเรื่องการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน หรือ Public Private Partnership (PPP) ของโครงการเมกะโปรเจคต่างๆ อาทิ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด เพิ่มเติมจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอการร่วมลงทุนจากกลุ่มเอกชนไปก่อนหน้านี้แล้ว
การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนหรือ PPP ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกโดยครอบคลุมหลากหลายสาขาทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การสาธารณสุข การกีฬา การศึกษา ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ตัวอย่างเช่น โครงการ Singapore Sports Hub ซึ่งเป็น PPP สาขาการกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือแม้กระทั่งในประเทศจีนที่รัฐบาลท้องถิ่นเมืองหางโจวก็ร่วมมือกับ Alibaba Group เพื่อพัฒนาเมืองหางโจวให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะโดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาบริหารจัดการเมืองและการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ในรูปแบบของ City Brain เป็นต้น
จากการศึกษาข้อมูลการดำเนินโครงการ PPP ที่ผ่านมาทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ ผู้เขียนพบว่า ไม่ได้มีรูปแบบหรือข้อกำหนดที่ตายตัวว่า PPP รูปแบบใดจึงจะเหมาะสมกับโครงการใดโครงการหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง โดยหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจะเป็นผู้พิจารณาเลือกรูปแบบที่มีความเหมาะสมตามลักษณะของโครงการและการพิจารณาด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงอันเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ PPP ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากการลงทุนรูปแบบ PPP จะช่วยลดภาระงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอันเป็นการสร้างกลไกการแข่งขันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการ รวมทั้งเป็นการดึงความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเทคโนโลยีของเอกชนมาใช้ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษาจากหลายประเทศชี้ตรงกันว่า การพัฒนาโครงการ PPP ให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ความซับซ้อนและความไม่แน่นอนของ PPP ทำให้หลายโครงการไม่เป็นไปตามสัญญาหรือกลายเป็นภาระของรัฐบาลในภายหลัง โดยรายงานของ IMF เปิดเผยไว้ว่า โครงการ PPP มากกว่า 50% ต้องมีการเจรจาสัญญาใหม่เฉลี่ยทุกๆ 2 ปี และโดยส่วนมากเป็นการปรับเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายเอกชน ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงน่าจะเป็นการหาจุดสมดุลระหว่างการกำหนดเงื่อนไขการร่วมทุนที่จูงใจสำหรับภาคเอกชน ทั้งผลตอบแทน กฎระเบียบและกระบวนการที่รวดเร็ว และการจัดทำสัญญาโครงการที่รัดกุมโดยการศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบด้านเพื่อตอบโจทย์บริการสาธารณะของภาครัฐ
สำหรับโครงการต่างๆ ภายในพื้นที่ EEC ที่คาดว่าจะมูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาทนั้น เมื่อพิจารณาสัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว พบว่าเป็นเงินลงทุนที่มาจากภาคเอกชนประมาณ 82% และเป็นเงินลงทุนจากภาครัฐเพียง 18% หรือประมาณ 0.3 ล้านล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการลงทุนภายในพื้นที่ EEC เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงกำหนดให้มี PPP EEC Track โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนที่กระชับชัดเจน
PPP EEC Track จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาครัฐในการผลักดันโครงการ EEC ให้ประสบความสำเร็จโดยการลดอุปสรรคของปัจจัยด้านกฎระเบียบเพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถประสานผลประโยชน์และร่วมมือกันเพื่อยกระดับการลงทุนและพัฒนาศักยภาพด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหากสามารถผลักดันและดำเนินการโครงการลงทุนต่างๆ ที่กำหนดไว้ตามแผนการให้สำเร็จลุล่วงเป็นรูปธรรมก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติในระยะยาวอย่างแท้จริง