記事

TRADE WAR

27/02/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในรอบปี 2018 ประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก คือ สงครามการค้า หรือ Trade War ที่นำโดย 2 ขั้วอำนาจอย่าง "สหรัฐอเมริกา" และ "จีน" ซึ่งแม้ว่าทั้งคู่จะบรรลุข้อตกลงในการยุติการทำสงครามการค้าชั่วคราวจนถึงเดือนมีนาคมเพื่อเปิดช่องให้มีการเจรจาแต่ระหว่างนี้ประเทศคู่ค้าของทั้งสองประเทศต่างก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสงครามการค้าครั้งใหม่เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่านโยบายกำแพงภาษีดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในบรรยากาศการค้าโลก

ผลกระทบของสงครามทางการค้าที่ส่งผลในทางบวก คือ ประเทศไทยสามารถนำเข้าสินค้าจากสหรัฐด้วยต้นทุนที่ต่ำลงโดยเฉพาะที่ไทยนำเข้าสุทธิ อาทิ อาหารสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงประเทศไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น และหากพิจารณาถึงผลกระทบแง่บวกในระยะยาวอาจรวมไปถึงโอกาสที่บริษัทจากประเทศจีนจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ไปยังประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษี ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มผู้ประกอบการชาวจีนแล้วจากผลการสำรวจของ US AmCham China และ AmCham Shanghai ยังพบว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันกว่า 1 ใน 3 ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 430 บริษัทในประเทศจีนมีแผนการย้ายฐานการผลิตโดยมีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรก หลายฝ่ายจึงประมาณการกันว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนจาก FDI หากสงครามทางการค้านี้ยังดำเนินต่อไปสูงถึงระดับเฉลี่ย 1.0-1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระหว่างปี 2561-2565 เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สงครามการค้าจะสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังทั้งสองประเทศตลอดจนเม็ดเงิน FDI ที่จะไหลเข้ามา แต่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยก็ย่อมได้รับผลกระทบทางลบด้วยเช่นกัน การใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ได้แก่ การขึ้นภาษีสินค้าโซลาร์เซลล์ร้อยละ 30 และเครื่องซักผ้าร้อยละ 20 ที่ผลิตจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยที่ส่งผลให้ยอดการส่งออกสินค้าโซลาร์เซลล์ของไทยไปยังสหรัฐลดลงถึงร้อยละ 69.8 และเครื่องซักผ้าลดลงร้อยละ 49.9 ในช่วงที่ผ่านมา

ประเด็นสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศมหาอำนาจจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการชาวไทยต้องหันมาพัฒนาสินค้า เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการของตนหรือขยับกระบวนการผลิตไปสู่การผลิตต้นน้ำโดยการยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อกระจายความเสี่ยงและเปิดโอกาสทางการค้าไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ซึ่งโครงการ EEC เองก็จะมีส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวโดยเฉพาะ SME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่สนับสนุนภาคการผลิตและบริการขนาดใหญ่ในพื้นที่อยู่แล้วอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ หรืออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถนำองค์ความรู้ (Know-How) มาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ และเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ที่เกิดจากการต่อยอดในอุตสาหกรรมเดิมเหล่านี้ได้

การปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการชาวไทยท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างจีนและสหรัฐซึ่งเป็นประเด็นการต่อสู้เชิงกลยุทธ์ระยะยาวที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า สงครามทางการค้า 2018 นั้นมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี หรือ Tech War 2019 จากเหตุการณ์ควบคุมตัว Meng Wanzhou ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Huawei Technology ซึ่งอาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานและการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกด้วย