記事
SMART HEALTH INSURANCE
23/06/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในปัจจุบัน การระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นได้ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อุตสาหกรรมประกันภัยเองก็นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันภัยหลายแห่งจึงพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการประกันสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ ในยุคที่มีการระบาดของไวรัสนี้ด้วยนั่นเอง
สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 หลายระลอกที่ผ่านมาไม่เพียงแต่สร้างความกังวลใจในหมู่ผู้บริโภค อีกทั้งยังได้ปลุกกระแสรัก/ ดูแลสุขภาพไปพร้อมๆกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วยนั่นเอง โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเองก็ได้คาดการณ์ว่าธุรกิจประกันสุขภาพจะเติบโตและมีค่าเบี้ยประกันภัยรวมกว่า 1.01 แสนล้านบาทในปี 2564 เลยทีเดียว
ซึ่งภาครัฐก็เองได้มีความพยายามที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัย โดยได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ที่มีหน้าที่กำกับ/ พัฒนาธุรกิจประกันภัยและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ซึ่ง คปภ. นั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง ผลักดัน และเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ตลอดจนได้สนับสนุนให้มีการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วยนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจประกันภัยเองต่างก็พยายามคิดค้น/ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันภัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตัวอย่างเช่น บริษัทกรุงเทพประกันภัย ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัย อาทิ ประกัน COVID-19 ประกันแพ้วัคซีน COVID-19 ตลอดจนการคุ้มครองอาการโคม่าจากการแพ้วัคซีน COVID-19 เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยหลายแห่งก็ได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำในการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ ได้แก่ ระบบบริการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการแพทย์สำหรับลูกค้าประกันภัยที่ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพ อาทิเช่น บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ที่ได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือ BDMS และโรงพยาบาลพระราม 9 ในการขยายพื้นที่ให้บริการ Telemedicine แก่ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพให้สามารถโทรปรึกษาปัญหาสุขภาพกับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลดังกล่าว โดยใช้สิทธิความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD) บริการดังกล่าวไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าประกันภัย เว้นระยะห่างทางสัมคม ลดความแออัดในโรงพยาบาล อีกทั้งยังช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ได้ด้วยเช่นกัน
การระบาดของไวรัส COVID-19 ถือเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาช่วยเสริมบริการด้านประกันภัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัดเชิงนโยบาย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลผ่านทางการออกกฎระเบียบ มาตรการ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติ อาทิ แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวชและคลินิกออนไลน์ ที่ชัดเจนและครอบคลุมก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมประกันภัยสามารถเพิ่มช่องทางบริการที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นให้แก่ผู้บริโภคได้อีกด้วย
ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยจะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมประกันภัยดิจิทัล ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ที่มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตโดยการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวนั่นเอง