記事

FoodTech กับความมั่นคงในการจัดการห่วงโซ่อาหาร (1)

14/07/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ถ้าเทคโนโลยีคือสิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยในการทำงาน การใช้ชีวิต หรือการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ FoodTech หรือเทคโนโลยีทางด้านอาหารน่าจะเป็นเทคโนโลยีแรก ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาบนโลกใบนี้ โดยพวกเราอาจจะไม่เคยรู้ว่าเทคนิคการถนอมอาหารที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่างเช่นการตากแห้ง ถูกคิดค้นและใช้กันมานานกว่า 14,000 ปีแล้ว หรือเราอาจจะไม่เคยทราบว่าวิธีการปรุงอาหารให้สุกโดยใช้ความร้อน ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยบรรพบุรุษของมนุษย์เมื่อกว่า 500,000 ปีมาแล้ว FoodTech จึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน และได้มีการวิวัฒนาการและทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหารในปัจจุบัน

หากเราพูดถึงการจัดการห่วงโซ่อาหารในปัจจุบัน แนวคิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารคือ “Farm to Fork” หรือ การมองทั้งวงจรการผลิตอาหารตั้งแต่ “ต้นน้ำ (อาหารสัตว์-ปศุสัตว์-เพาะปลูกพืช)” “กลางน้ำ (ผู้ผลิตและแปรรูปอาหาร)” ไปจนถึง “ปลายน้ำ (ผลิตภัณฑ์อาหาร-ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาหาร-ธุรกิจร้านอาหาร-ผู้บริโภค)” ซึ่งจากการศึกษาของธนาคารโลกถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 พบว่า ห่วงโซ่อาหารของโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ตัวอย่างที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนเช่น โรงงานผลิตและแปรรูปอาหารหลายแห่งต้องหยุดหรือปิดกิจการไปเนื่องจากมีการแพร่เชื้อในหมู่พนักงาน การที่ธุรกิจกลุ่มโรงแรมที่พักและร้านอาหารไม่สามารถเปิดกิจการได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ต้องลดปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ลง การที่เกษตรกรต้องปล่อยให้ผลผลิตเน่าเสียเพราะไม่สามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดหรือแหล่งที่มีผู้ซื้อ ไปจนถึงการที่ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อและบริโภคอาหารไปอย่างสิ้นเชิง

รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศเล็งเห็นถึงปัญหาและผลกระทบดังกล่าวและพยายามที่จะหาแนวทางในการจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบโดยพยายามผนวกเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น ในประเทศอินเดีย ศูนย์สนเทศศาสตร์แห่งชาติ (National Informatics Centre) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อช่วยเกษตรกรและพ่อค้า ในการจัดหารถขนส่งเพื่อนำผักและผลไม้ของเกษตรกรไปส่งยังตลาด หรือตัวอย่างในประเทศจีนที่รัฐบาลกลางพยายามผ่อนคลายกฎเกณฑ์และขั้นตอนสำหรับเกษตรกรในการจัดตั้ง ‘e-enterprises’ พร้อมกับจัดฝึกอบรมและให้ความรู้ในด้าน e-commerce เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปขายออนไลน์ได้ ด้วยความร่วมมือจากสมาคมตลาดผลิตภัณฑ์การเกษตรที่พยายามช่วยเหลือในการเชื่อมโยงธุรกิจ e-commerce และ on-line platform ต่าง ๆ เข้ามา เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ซื้อได้มาเจอกัน หรือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกให้ออกจากงาน และกลายเป็นคนไร้บ้าน รัฐบาลจึงได้ร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหาร ในการสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ร้านอาหารเหล่านั้นที่อาจจะต้องปิดตัวลงไปเนื่องจากการล็อกดาวน์ เพื่อทำหน้าที่เป็นห้องครัวสำหรับชุมชนในการปรุงอาหารให้กับคนไร้บ้านที่รัฐบาลต้องสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพราะสามารถรักษางานและธุรกิจเอาไว้ ในขณะที่ยังเป็นการช่วยเหลือคนไร้บ้านไปพร้อม ๆ กันด้วย

ในโอกาสถัดไป ผู้เขียนจะมาชวนคุยกันต่อถึงตัวอย่างและบทบาทของ FoodTech ที่มีต่ออนาคตของห่วงโซ่อาหาร พร้อมกับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจาก FoodTech เพื่อช่วยให้เราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ที่ได้ตั้งเอาไว้ว่า เราจะเป็น ‘Kitchen of The World’ ค่ะ