記事

FOOD SECURITY CRISIS

29/06/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารโดยมีสัญญาณบ่งชี้จากรายงานดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่เปิดเผยว่า ในปี 2021 ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 28 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ราคาอาหารโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2023 ประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหารจึงกลายมาเป็นสิ่งที่นานาประเทศทั่วโลกกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง

ความมั่นคงทางอาหารนั้นมีองค์ประกอบด้วยกันทั้งหมด 4 มิติ ได้แก่ (1) การมีอาหารเพียงพอ (2) การเข้าถึงอาหาร (3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร และ (4) การมีเสถียรภาพด้านอาหาร โดยถ้าหากเราพูดถึงสาเหตุของปัญหาที่โลกต้องเผชิญเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลงและจึงส่งผลกระทบมายังอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่อาจทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรจากปริมาณความต้องการในการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวเร่งในช่วงที่ผ่านมาคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระดับโลกอันเนื่องมาจากการเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรรายสำคัญของโลก

ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนั้นทำให้เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร (Agricultural and Food Technology) สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ โดยเทคโนโลยี เช่น Robotics, AI, IoT, Big Data นั้นสามารถนำมาพัฒนาเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมถึงการเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต นอกจากนี้ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทำให้เกิดเป็นอาหารชนิดใหม่ (Novel Food) ซึ่งเป็นอาหารที่มาจากส่วนประกอบหรือกรรมวิธีการผลิตรูปแบบใหม่ อาทิเช่น เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Lab-Grown Meat) โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) โปรตีนจากแมลง (Edible Insects) โปรตีนจากเชื้อรา (Mycoprotein) โปรตีนจากอากาศ ฯลฯ ก็เป็นอีกส่วนที่สามารถเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาทางด้านอาหารได้เช่นกัน

โดยที่ผ่านมา ภาครัฐก็ได้มีความตื่นตัวในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและมีการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ EEC ที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) ผ่านทางมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนและสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการชาวไทยทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการจำหน่ายในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบทางการเกษตรที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการความมั่นคงทางอาหารนั้นมีหลากหลายปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบ อีกทั้งยังมีหลายมิติที่ต้องพิจารณา ดังนั้นนอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้ว การวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือด้านความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวก็นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสและต่อยอดความได้เปรียบในฐานะของการเป็น “Kitchen of The World” ต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง