記事
PRECISION AGRICULTURE
27/07/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันภาคการเกษตรต้องเผชิญกับความท้าทายทางปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการโดยหนึ่งในนั้นคือ ผลิตภาพการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเน้นการใช้แรงงานคน พึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศแต่ด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติจึงส่งผลทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามคาด นอกจากนี้ เกษตรกรยังขาดการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดีทำให้ต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตตกต่ำ และรายได้ผันผวน
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้เทคโนโลยีสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อคความท้าทายของภาคการเกษตรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเกษตรรูปแบบใหม่ที่มีความแม่นยำสูงหรือ Precision Agriculture ได้โดยการนำเทคโนโลยี เช่น Drone, Sensor, IoT, GPS, Big Data, AI ฯลฯ มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรผ่านการตรวจวัด จัดเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมถึงวางแผนการเพาะปลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพอากาศซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้อีกด้วย
โดยจากการคาดการณ์ของสำนักวิจัย MarketsandMarkets ระบุว่า มูลค่าตลาด Precision Agriculture ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นจาก 8.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 เป็น 15.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทในหลายประเทศทั่วโลกก็ได้มีการพัฒนาโซลูชันสำหรับช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำมาวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Arable จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพดิน อากาศ และการตอบสนองของพืชต่อตัวแปรต่างๆ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อเข้าสู่แพลตฟอร์มเพื่อนำไปประมวลผลแบบเรียลไทม์ หรือ CropX จากอิสราเอล ที่พัฒนาอุปกรณ์เซนเซอร์สำหรับตรวจวัดสภาพดินเพื่อคำนวณปริมาณน้ำและปุ๋ยที่พืชต้องการอย่างเหมาะสม เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้ยังคงไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก อย่างไรก็ตาม โครงการ EEC เองก็ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การทำเกษตรรูปแบบใหม่ โดยมีเมืองนวัตกรรมชีวภาพ EECi BIOPOLIS เป็นหลักในการขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรกรรมของไทยมุ่งสู่การเกษตรเพิ่มมูลค่าและยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างดุลยภาพระหว่างการเพิ่มปริมาณผลผลิตกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างให้เกิดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยแพลตฟอร์ม HandySense เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาระบบเกษตรแม่นยำที่นำเทคโนโลยีเซนเซอร์มาใช้ในการตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและเมื่อเซนเซอร์ตรวจพบค่าสภาวะที่ไม่เหมาะสมก็จะสั่งการไปยังระบบที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ซึ่งจากการใช้งานจริงพบว่า HandySense สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อยร้อยละ 20 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์แล้วนั้น การเปลี่ยนจากวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นเกษตรรูปแบบใหม่นั้นยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในเรื่องของการสร้างความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการทำเกษตรรูปแบบใหม่อย่างแพร่หลาย อันจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นนั่นเอง