記事

Genomics Medicine

10/08/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้าไปในขั้นตอนและกระบวนการให้บริการทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การตรวจวินิจฉัย การให้คำปรึกษา การผ่าตัด ฯลฯ เมื่อความรู้ทางด้านการแพทย์ถูกนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงส่งผลให้เกิดการคิดค้นแนวทางการรักษาโรคใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยเสริมบริการด้านสาธารณสุขให้มีความครอบคลุมและสามารถเข้าถึงได้มากกว่าเดิมในอดีต

Genomics Medicine หรือ การแพทย์จีโนมิกส์ ถือเป็นนวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด แม่นยำ และมีความเฉพาะเจาะจงต่อเงื่อนไขทางสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายนั่นเอง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Genomics Medicine นั้นเติบโตและได้รับความนิยมในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น Illumina บริษัทสัญชาติอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มุ่งเน้นให้บริการหาลำดับเบสของดีเอ็นเอ หรือ DNA-Sequencing เพื่อวินิจฉัยโรคแบบรายบุคคล ซึ่งปัจจุบัน Illumina มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในห้องปฏิบัติการรวมกว่า 10,000 แห่งใน 115 ประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว อีกทั้งยังมี CRISPR Therapeutics บริษัทด้านไบโอเทคจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ผู้วิจัยเทคโนโลยีการแก้ไขจีโนมเพื่อรักษาโรคร้ายแรง โดยใช้เทคโนโลยี CRISPR/Cas9 ที่มีความง่ายและแม่นยำ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาของ Genomics Medicine นั้นแม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม เวชศาสตร์จีโนมก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ดังสะท้อนจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้จัดตั้ง Center for Medical Genomics ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการตรวจวิเคราะห์จีโนมทางการแพทย์เพื่อตรวจกรอง ป้องกัน และรักษาโรคเพื่อลดการเจ็บป่วยนั่นเอง ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก็ได้ก่อตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ เพื่อให้บริการผู้ป่วยโดยการนำเทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) หรือเทคโนโลยีการถอดรหัสทางพันธุกรรมมาใช้ตรวจ Whole Exome Sequencing และ Whole Genome Sequencing ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ รัฐบาลก็ได้กำหนดการให้บริการทางการแพทย์สมัยใหม่เป็นอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ที่ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งใน 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่โครงการ EEC มุ่งให้การสนับสนุนผ่านทางการให้สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ โดยเป็นการต่อยอดจากข้อได้เปรียบของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและธุรกิจการรักษาพยาบาลที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงมายาวนาน ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ HealthTech ให้เข้ามาลงทุนในประเทศอันจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบริการสุขภาพของไทยก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ โครงการ EEC เองก็ได้มีการตั้ง ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) หรือ EECg ซึ่ง เป็นหนึ่งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์สำหรับรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และยังถูกใช้เป็นพื้นที่นำร่องในการทดสอบจีโนมของสิ่งมีชีวิตสำหรับวิจัยเรื่องรหัสพันธุกรรม (DNA) อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสูงอีกด้วย

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Genomics Medicine นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงอายุตั้งแต่ก่อนเกิด เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไปพร้อมๆกัน ซึ่งจะเข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาไปของอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพทย์แบบจำเพาะบุคคล หรือ Personalized Healthcare ในอนาคตอันใกล้นี้นั่นเอง