記事

BIODIVERSITY

21/10/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงส่งผลทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและออกมาขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง นอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ที่หลายท่านมักจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ แล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

Biodiversity หรือ Biological Diversity หมายถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยสามารถแบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่ (1) ความหลากหลายของสปีชีส์ (Species) เช่น พืช สัตว์ (2) ความหลากหลายของพันธุกรรม เช่น สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ และ (3) ความหลากหลายของระบบนิเวศ เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า บึงน้ำจืด โดยสรุปแล้ว Biodiversity คือการที่สิ่งมีชีวิตนานาชนิดและนานาสายพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศที่หลากหลายและแตกต่าง ความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความสำคัญต่อประชากรมนุษย์และโลกของเราทั้งด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม ตัวอย่างเช่น ความหลากหลายทางชีวภาพมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลด้านการเป็นจุดขายของภาคการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ก็เป็นหัวใจสำคัญของวัตถุดิบสำหรับการผลิตและสามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือความหลากหลายทางชีวภาพของโลกขณะนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง รายงาน Living Planet Index (LPI) ของกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) ปี 2022 เปิดเผยว่าในระหว่างปี 1970 ถึง 2018 ประชากรสัตว์โลกทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำมีปริมาณลดลงเฉลี่ยถึงร้อยละ 69 หรือจากรายงาน State of the World’s Plants and Fungi ปี 2023 พบว่าร้อยละ 45 ของพันธุ์พืชที่สามารถระบุได้ของทั้งโลกกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งการบริโภคทรัพยากรมากจนเกินขีดจำกัดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss)

ภาคธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพผ่านโครงการต่างๆ อาทิ (1) การบรรเทาผลกระทบโดยพยายามหลีกเลี่ยงการแทรกแซงความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการชดเชยด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศตามธรรมชาติ เช่น การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ถูกบุกรุกหรือป่าเสื่อมโทรม (2) การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ต้องใช้หรือพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง (3) การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพเชิงรุกนอกเหนือจากกระบวนการดำเนินงานตามปกติ เช่น การจัดทำโครงการเพื่อรับผิดชอบดูแลผืนป่าหรือท้องทะเลในพื้นที่เฉพาะเจาะจง ตลอดจนการจัดหาเงินทุน แบ่งปันความรู้ และทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ (4) การรายงานผลการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเข้าร่วมดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืนระดับสากล เป็นต้น

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อนเหนือเส้นศูนย์สูตรและติดทะเลทำให้อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิด ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นต้นทุนทรัพยากรที่มีคุณค่าและถูกนำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเสมอมา แต่ปัจจุบันประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก ซึ่งการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไปก็คล้ายกับการอนุรักษ์และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการตระหนักรู้ การทำงานเชิงรุก และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และระดับปัจเจกบุคคลที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน