記事

PACING THE AI RACE

30/12/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กร โดยเฉพาะ AI ที่เข้ามาปฏิวัติรูปแบบการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้องค์กรต่างต้องปรับตัวและพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือคู่แข่ง โดยผลสำรวจของ McKinsey แสดงให้เห็นภาพชัดเจนว่า องค์กรต่างตระหนักถึงความสำคัญของ AI ในการยกระดับการดำเนินงานและนำมาใช้ในอัตราที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 55 ในปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 ในปีปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายองค์กรจะได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่ใช่ทุกองค์กรที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างคุ้มค่า โดยสาเหตุสำคัญมักเกิดจากการขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการประยุกต์ใช้ AI ให้สอดคล้องกับบริบทเฉพาะขององค์กร นอกจากนี้ ความคาดหวังผลลัพธ์ที่รวดเร็วเกินโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมทั้งในแง่ของโครงสร้างองค์กรและบุคลากรยังอาจส่งผลให้การนำ AI มาใช้ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ การจะขับเคลื่อน Transformation ให้ประสบความสำเร็จนั้นอาจไม่ได้มีสูตรสำเร็จ แต่องค์กรจำเป็นต้องพิจารณาอย่างครอบคลุมใน 3 มิติหลัก ได้แก่ มิติทางธุรกิจ มิติทางเทคโนโลยี และมิติทางวัฒนธรรมองค์กร พร้อมกับการระบุเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ชัดเจน ควบคู่กับการกำหนดจังหวะความเร็วที่เหมาะสมก็จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างให้เกิดมูลค่าที่แท้จริง

ในมิติทางธุรกิจ องค์กรต้องเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายในการนำ AI มาใช้อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับกลยุทธ์ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ AI-steady เป็นการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นการนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานหรือปรับปรุงกระบวนการทำงานเดิม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การเพิ่มผลผลิต การลดความสูญเสีย การยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ได้แปรผันตรงกับประโยชน์ที่ได้รับเสมอไป แนวทางที่สอง AI-accelerated เป็นการใช้ AI เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ หรือการสร้างประสบการณ์ลูกค้าแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับมิติทางด้านเทคโนโลยี องค์กรควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา AI องค์กรควรมุ่งเน้นการสร้าง AI Data Warehouse เพื่อจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและพัฒนาโซลูชันในลักษณะแบบองค์รวม (Holistic) เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลทั้งองค์กรมาวิเคราะห์และสร้างผลลัพธ์ที่แม่นยำ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถประเมินความพร้อมและเลือกวิธีที่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มี โดยองค์กรขนาดเล็กอาจเริ่มจากการนำโซลูชันสำเร็จรูปมาปรับใช้ ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่อาจพัฒนาโมเดลเฉพาะเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยต้องพิจารณาความเสี่ยงและผลกระทบอย่างรอบด้านเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญ

นอกจากนี้ การขับเคลื่อน AI Transformation ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Culture & Change Management) ควบคู่กัน โดยองค์กรควรมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของพนักงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับนวัตกรรมและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับบุคลากรอันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มศักยภาพและพร้อมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน