記事
INFLATION
30/06/2025คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าเงินและคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน โดยเงินเฟ้อหมายถึงภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลทำให้อำนาจซื้อของเงินลดลง และประชาชนต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งนอกจากผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลที่ต้องจัดการค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของตนเองแล้ว เงินเฟ้อยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคอีกด้วย
แม้ว่าศตวรรษที่ 21 จะเริ่มต้นด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพค่อนข้างมากโดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงต้นทศวรรษ 2000 นั้นอยู่ในระดับต่ำและมีความผันผวนค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง วิกฤตการเงินโลก (2008-2009) นำไปสู่การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ Quantitative Easing (QE) ของธนาคารกลางในหลายประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน การแพร่ระบาดของ Covid-19 (2020-2022) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานโลก การปิดประเทศชั่วคราว และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในหลายประเทศ สงครามระหว่างประเทศ (2022-ปัจจุบัน) ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล–ฮามาส-อิหร่าน ส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
นอกจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลทำให้ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศหนึ่งสามารถลุกลามเป็นปัญหาในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างรวดเร็วแล้ว ศตวรรษที่ 21 ยังมีปัจจัยใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ส่งผลต่อความรุนแรงของสถานการณ์เงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และทำให้ราคาอาหารและสินค้าจำเป็นมีความผันผวนมากขึ้น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศก็ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในระยะยาวเนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น อุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนผลิตภาพของเศรษฐกิจที่ลดลง
การบริหารจัดการกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจึงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และจำเป็นที่ธนาคารกลางและรัฐบาลต้องทำงานประสานกันผ่านเครื่องมือสำคัญทั้ง (1) นโยบายการเงิน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขายหลักทรัพย์รัฐบาลในตลาดการเงินเพื่อลดสภาพคล่องในระบบ รวมถึงมาตรการ QE Tapering และ QT (Quantitative Tightening) เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ และ (2) นโยบายการคลัง อาทิ มาตรการควบคุมราคาสินค้าและบริการขั้นพื้นฐาน นโยบายส่งเสริมการออม การลดอุปสรรคทางการค้า รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตซึ่งจะช่วยให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพในระยะยาว
การบริหารจัดการเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพนับเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางแผนและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม การเข้าใจถึงกลไกและพลวัตของเงินเฟ้อนั้นไม่ใช่เรื่องของนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน หรือผู้เชี่ยวชาญเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ประชาชนควรให้ความสำคัญเพราะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อคุณภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน ความรู้ความเข้าใจว่าราคาสินค้าและบริการต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจะช่วยให้เราตระหนักว่าเงินที่เรามีอยู่ในวันนี้จะมีอำนาจซื้อลดลงในอนาคต และทำให้เราต้องวางแผนการใช้จ่าย การออม และการลงทุนอย่างมีสติรอบคอบอยู่เสมอ