記事
PORT INFRASTRUCTURE
15/07/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เนื่องด้วยความสามารถในการขนส่งปริมาณมากต่อครั้งจึงทำให้การขนส่งทางทะเลมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งประเภทอื่นๆ การบริหารจัดการการขนส่งทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพจึงกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากรายงานโลจิสติกส์ปีล่าสุดพบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 347 ล้านตันโดยเป็นการขนส่งทางทะเลจำนวนถึง 313 ล้านตัน หรือคิดเป็นกว่า 90% ของปริมาณสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด โดยสถิติของกรมเจ้าท่าได้เปิดเผยข้อมูลท่าเรือที่รองรับปริมาณสินค้าสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ (1) ท่าเรือแหลมฉบัง 150 ล้านตัน (2) ท่าเรือมาบตาพุด 71 ล้านตัน (3) ท่าเรือกรุงเทพฯ 18.5 ล้านตัน (4) ท่าเรือสมุทรปราการ 17 ล้านตัน และ (5) ท่าเรือสงขลา 11 ล้านตัน
นอกจากนั้น รายงานผลการจัดอันดับท่าเรือในระดับนานาชาติของ World Shipping Council ก็ได้เปิดเผยผล Top 50 World Container Ports อ้างอิงตามความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้า (ข้อมูลปี 2561 หน่วยเป็นล้านทีอียูต่อปี) ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังของไทยก็ติดอยู่ในอันดับที่ 21 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะจากการจัดอันดับดังกล่าวคงหนีไม่พ้นประเทศจีนที่ครอบครองท่าเรือขนาดใหญ่ติดอันดับโลกมากถึง 17 ท่า ตลอดจนท่าเรือเซี่ยงไฮ้ (42.0 ล้านทีอียู) ท่าเรือเซินเจิ้น (27.7 ล้านทีอียู) ท่าเรือหนิงโป-โจวชาน (26.4 ล้านทีอียู) และท่าเรือกว่างโจว (21.9 ล้านทีอียู) ของจีนก็ติดอันดับ Top 5 ของท่าเรือที่มีปริมาณตู้สินค้าผ่านเข้าออกมากที่สุดอีกด้วย
ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าสูงสุดที่ 10.8 ล้านทีอียูต่อปีซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับท่าเรือในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ท่าเรือแหลมฉบังยังเป็นรองท่าเรือสิงคโปร์ (อันดับ 2, 36.6 ล้านทีอียู) และท่าเรือพอร์ตกลังของมาเลเซีย (อันดับ12, 12.3 ล้านทีอียู) แต่อยู่ในอันดับที่เหนือกว่าท่าเรือจาการ์ตา (อันดับ 22, 7.6 ล้านทีอียู) และท่าเรือนครโฮจิมินห์ (อันดับ 26, 6.3 ล้านทีอียู) ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาถึงโอกาสเนื่องจากการเติบโตทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาครวมถึงความได้เปรียบของภูมิศาสตร์ที่ตั้ง คณะกรรมการโครงการ EEC จึงกำหนดให้การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 (ท่าเรือ F) เป็นหนึ่งในเมกะโปรเจคตามแผนยุทธศาสตร์เมืองท่าแห่งอนาคตเพื่อขยายศักยภาพการรองรับปริมาณตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี สำหรับความคืบหน้าล่าสุดนั้น คณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ ก็สามารถสรุปผลการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งในลำดับถัดไปก็จะนำเสนอเพื่อให้คณะกรรมการ EEC และคณะรัฐมนตรีพิจารณาลงนามสัญญาในช่วงเดือนสิงหาคมควบคู่ไปกับการเปิดประมูลงานก่อสร้างโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สำหรับส่วนงานที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบดูแล
แม้ว่าช่วงนี้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายแต่โครงการ EEC ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปและในอนาคตเมื่อเมกะโปรเจคต่างๆ ได้รับการพัฒนาจนแล้วเสร็จ บทบาทของท่าเรือแหลมฉบังก็จะเปลี่ยนไปไม่ใช่เพียงแค่การนำเข้า/ ส่งออกสินค้าเท่านั้นแต่จะกลายเป็น Transshipment Port หรือท่าเรือศูนย์กลางสำหรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สามารถรองรับกิจกรรมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและมุ่งสู่เป้าหมายท่าเรือ Top 10 ที่เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของไทยเข้ากับเส้นทางการค้าของภูมิภาคและโลกได้อย่างไร้รอยต่อนั่นเอง